Saturday, September 11, 2010

“จิตวิญญาณแห่งรุ่นพี่รุ่นน้อง”(มธก) เป็นศิลปวัตถุอันหนึ่งที่ต้องรู้จักสร้างด้วยนำ้ใจไมตรีระหว่างกัน

ณ ขณะเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมหายเหนื่อยล้าไปโดยสิ้นเชิง ภายหลังจากเห็นภาพบางอย่างที่ไม่ประติดประต่อ แต่น่าจดจำยิ่งนัก วันก่อนหน้านี้ นศ นิติศาสตร์ ศูนย์ลำปางรุ่นแรกไปส่งน้องๆขึ้นรถไฟเพื่อไปงานรับเพื่อนใหม่ที่ กทมฯ นศ รุ่น ๑ ดีใจมากเมื่อตนเองได้มีน้องๆ คณะนิติฯเป็นของตัวเองซักที ก่อนหน้านั้นทุกคนทำงานกันอย่างแข็งขันในช่วงก่อนหน้านั้นเพื่อต้อนรับน้องใหม่ บางคนมากระซิบกับผมว่า “อ อย่าซักถามกับรุ่นน้องโหดมากนะครับ(คะ) ก่อนหน้านี้ อ ทำน้องร้องไห้ไปหลายคนแล้ว” (ผมตกเป็นจำเลยในคดีทารุณเด็ก )
วัฒนธรรมของ มธ เป็นเช่นนี้มานานแล้ว เราเป็นหนึ่งเดียวทุกคณะ เราไม่มีการแบ่งแยก แบ่งชั้น รำ่รวยล้นฟ้า ยากดีมีจน แม้มาจากคนละที่ละทาง ร้อยพ่อพันธ์ุแม่ แต่นำ้ใจไมตรีเป็นตัวหล่อหลอมวัฒนธรรมชาวธรรมศาสตร์ ชาว มธ รู้จักคำว่า “เสรีภาพ เสมอภาคและนำ้ใจไมตรีของรุ่นพี่รุ่นน้อง” พอๆกับความรู้ที่ค่อยๆพอกพูนเพิ่มเพื่อพัฒนาผืนแผ่นดิน
วันก่อนได้คุยกับ ลูกศิษย์ นศ ศูนย์รังสิตยิ่งชื่นใจเมื่อหลายๆคนยินดีช่วยเหลือแนะนำน้องที่มีปัญหาด้านการเรียน บางครั้งนำเรื่องการเรียนไปเล่าให้เพื่อนเก่าที่เป็นทั้ง นักธุรกิจ ที่ปรึกษากฎหมายทั้งภาครัฐและเอกชน ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ฯลฯ ทุกคนต่างยินดีและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้หรือแนวทางการดำเนินชีวิตให้ “รุ่นน้อง”
อย่าว่าแต่ นศ ใหม่เลยครับ แม้แต่ตัวผมเอง เวลาไปเจอท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคยสอนเรามา ทุกวันนี้หลายท่านก็เรียกผมเป็น “น้อง” เช่น อ แหวว, อ สุดา ฯลฯ
นอกจากตัวผมแล้ว แม้แต่อาจารย์ท่านอื่นๆ เมื่อได้ทราบว่ามีการทำกิจกรรมเพื่อรุ่นน้อง ต่างก็ดีใจมากมาย เช่น อ ฐาฯ มาเล่าให้ผมฟังด้วยความยินดีหลายรอบมากๆ(ซึ่งทั้งผมและ อ ฐาเป็นพวกขี้ลืมทั้งคู่ บางทีเล่าแล้วเล่าอีกด้วยความดีใจ) หรือ อาจารย์รุ่นน้องผมบางท่านมีความตั้งใจ ใส่ใจ ภูมิใจยิ่งนักในการอบรม นศ ให้เป็นคนดี คนเก่ง
บางครั้งผมแอบยิ้ม เวลาเห็น นศ หลายๆคนบุกไปให้กำลังใจท่าน(อดีต)คณบดี หรือ ท่านอาจารย์สมคิด รวมไปถึงการขออะไรตามมาอีกมากมายที่ทางลำปางไม่พร้อม อ สมคิดเองก็สละเวลามาตอบทุกคำถาม ๕๕๕ ผมชอบครับ
แต่อย่างหนึ่งที่ผมเริ่มเป็นกังวลบ้างก็คือ การแบ่งเขาแบ่งเรา ถ้า นศ ท่านใดแอบมาอ่านโน๊ตที่ผมเขียนนี้ ผมขอร้องว่าการจะรักษานำ้ใจไมตรีบางครั้งเราต้องใช้ความอดทน แม้บางครั้งเราอาจถูกเอาเปรียบ รังแก แบ่งแยก แบ่งพวก คิดต่าง คิดแปลก แต่ขอให้อโหสิให้แก่กันครับเพราะผมเชื่อว่า “จิตวิญญาณของรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นศิลปวัตถุที่ต้องใช้เวลาและความตั้งใจ เข้าใจ เสียสละเพื่อส่วนรวม แม้คนเหล่านั้นจะไม่เข้าใจ ไม่เสียสละ ไม่เห็นอกเห็นใจเหมือนเราก็ตาม” ถ้าเราแบ่งแยกกันตั้งแต่วันนี้ ก็คงไม่แปลกที่วันข้างหน้าเราจะเห็นความแบ่งแยกทวีคูณเกิดขึ้นในสังคมของเรา

Monday, July 5, 2010

อิฐก้อนแรก

หลังจากครุ่นคิดอยู่นานว่าจะเขียนอะไรให้นักศึกษาที่ทำค่ายพัฒนา ผมก็ได้ไอเดียจากการมองเห็นพวกเขาทำบ้านดิน ก่อนที่จะทำบ้านดินขึ้นเป็นหลังๆด้วยความยากลำบากนี้ สิ่งแรกที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งก็คือการจัดทำอิฐแต่ละก้อนที่ทำมาจากดินเหนียวผสมกับแกลบและขี้วัว....
กว่าจะได้อิฐแต่ละก้อนต้องผ่านกระบวนการเดินเหยียบ นวดและผสมดินเหนียวจากความสามัคคีของกลุ่มนักศึกษาที่ทำบ้านดินให้กับชุมชนต่างๆที่พวกเขาลงไปพัฒนา หลังจากนั้นต้องนำก้อนดินเหนียวเหล่านี้ไปตากแดดจนแข็งกว่าจะได้อิฐแต่ละก้อน ผมคงต้องเทียบคนกลุ่มแรกที่ไปบุกเบิกอะไรใหม่ๆในสังคมเหมือนดั่งอิฐก้อนแรกที่ใช้ก่อสร้างกำแพง หรือ สิ่งปลูกสร้าง เพราะถ้าไม่มีอิฐก้อนแรกที่เป็นฐานคำ้จุนเหล่านี้ ก็คงไม่มีการก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ยิ่งไปกว่านั้น ผมเชื่อว่าสิ่งปลูกสร้างที่สวยงาม เช่น ปราสาท ราชวัง วัดวาอาราม.......คงจะมีแต่คนชื่นชม แต่คงไม่มีใครรู้ว่าความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นจากอิฐก้อนแรกเหล่านี้เอง
กลุ่มนักศึกษาที่มาบุกเบิกอยู่ที่นี่ก็คงเทียบได้กับอิฐก้อนแรก.......ถ้าไม่มี ก็คงไม่มีการสานต่อที่ยิ่งใหญ่

Tuesday, March 2, 2010

นิยามของ “ค่ายสร้างฯ”ในทัศนะคติของผม

นิยามของ “ค่ายสร้างฯ”ในทัศนะคติของผม

เย็นวันนี้นักศึกษาของผมกลุ่มหนึ่งที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำโครงการค่ายอาสาและพัฒนาชุมชนได้เดินเข้ามาหาผมและขอร้องให้ผมเขียนถึงความคิดเห็น ประโยชน์ของการจัดทำโครงการดังกล่าว
ผมย้อนกลับไปคิดถึงสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาปีแรกที่ธรรมศาสตร์ สมัยนั้นทุกคนที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่ต่างโหยหาพฤติกรรมในอุดมคติเฉกเช่นอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งในแง่รูปแบบและตัวเนื้อหา ที่เรียกว่าเชิงรูปแบบนั้นเรียกได้ว่าเป็นแฟชั่นเพื่อชีวิตก็ว่าได้ เช่น การทำตัวให้เป็นพวก ๕ ย.(เสื้อยืด กางเกงยีน ผมยาว สะพายย่าม รองเท้ายาง) หรือ การหาเพลงเพื่อชีวิตแบบคาราวานมาร้องเอาเท่ครับ ผมจำได้ว่าตอนนั้นใครเอาเพลงแนวหนุ่มเนี้ยบเดินสยาม เช่น เพลงแนวๆค่ายเบเกอรี่มิวซิคมาร้องเนี่ยไม่เท่ครับ (ถูกเพื่อนๆในคณะประณามเล็กน้อย)
อีกส่วนที่เรียกกันว่าเชิงเนื้อหานี้ ถือว่าใครได้ลงค่ายสร้างฯภาคปฏิบัติ ก็จะเป็นหนุ่มสาวธรรมศาสตร์ในอุดมการณ์อย่างแท้จริงครับ เนื่องจากได้เข้าไปพัฒนาชุมชนตามแนวทางเพื่อสังคมจริงๆ
คำว่า “ค่ายสร้างฯ” นั้นมีสองมิติครับ มิติแรกคือการนิยามเชิงอัตวิสัย ส่วนมิติหลังคือการนิยามเชิงภาวะวิสัย เป็นอย่างไรกันแน่................................งง!
คำว่า “ค่ายสร้างฯ”เชิงภาวะวิสัยนั้นหมายถึงการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การออกค่ายสร้างประโยชน์ให้หมู่บ้าน ชุมชน สังคมนั้นๆเกิดความเข็มแข็งทั้งการศึกษา เศรษฐกิจและสถาบันครอบครัว การสร้างสรรค์เพียงวัตถุปัจจัยนั้นไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการลงชุมชนเพราะไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนคำว่า “ค่ายสร้างฯ” เชิงอัตวิสัยนั้นหมายถึง ค่ายดังกล่าวได้สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ ประโยชน์ที่ว่านี้คือ การสร้างเพื่อน ทำให้เราได้มิตรสหายเพิ่มขึ้น การสร้างน้ำใจไมตรี ทำให้เรารู้จักที่จะให้กับผู้อื่น และที่มากกว่าทุกเรื่องคือการสร้างอุดมการณ์ให้คงอยู่
..........................................เราคงจะไม่รู้จักอุดมการณ์เพื่อมวลชน ถ้าเราไม่เริ่มที่จะสร้างอะไร..............

Thursday, February 11, 2010

ชำเลืองใต้เงาโดม ตอนที่ ๔ - กล่องเปล่า

หลายๆ คนอาจจะมีความทรงจำดีดีที่เก็บเอาไว้แล้วไม่อยากเปิดมันออกมาอีก ด้วยเหตุที่ว่าตอนจบของมันดีอยู่แล้ว หรือ อยากหยุดเอาเพียงแค่นั้น ถึงแม้ระยะเวลาผ่านพ้นไปเพียงใด แต่เชื่อได้ว่าความทรงจำดีดีของทุกคนยังมีอยู่
เรื่องเล่ามีอยู่ว่า วันหนึ่ง เด็กชายได้ค้นพบกล่องใบเก่าที่เก็บความทรงจำวัยหนุ่มของคุณปู่ของเขา กล่องได้เก็บจดหมายจำนวนมากมายและมีอีกกล่องเป็นเพียงกล่องใส่แหวนใบเล็กที่ว่างเปล่า เด็กชายเริ่มต้นอ่านจดหมายเก่าๆ จำนวนมากเหล่านั้น จดหมายได้บรรยายความรู้สึกที่คุณปู่แสดงความรักต่อเพื่อนหญิงคนหนึ่ง เด็กน้อยประติดประต่อเรื่องราวต่างๆ ที่พรรณนาเอาไว้ด้วยกันจนเป็นเรื่องราวสมัยก่อน เรื่องราวที่ถ่ายทอดอารมณ์ เรื่องราวที่แสดงถึงความรู้สึกมากมาย
“ วันที่ ๘ ธันวา วันนี้ตื่นแต่เช้าเพราะมีแรงจูงใจอะไรบางอย่าง เมื่อมีความรู้สึกดีกับใครบางคนมันทำให้เราทำอะไรได้ทั้งวันโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย.....”
“วันที่ ๒๖ ธันวา วันนี้ไม่รู้เกิดอะไร เธอร้องไห้ตาปูดเลย (สงสัยมาสคาล่าไหลย้อยแหงๆ) ความรู้สึกเธอคงถูกทำร้าย เป็นโอกาสดีที่ได้ดูแลแล้ว”
“วันที่ ๔ มีนา หาซื้อดอกไม้ให้เธอบ้าง เธอชอบดอกสีขาว(เดาเอา)”
“ วันที่ ๑๒ มีนา ดูท่าเธอจะเหนื่อยจากงานแน่ๆ อย่าลืมถามว่าวันนี้เหนื่อยรึเปล่า”
“วันที่ ๓ เมษา วันนี้ไม่รู้ไปโกรธใครมา (อย่าลืมเข้าข้างเธอละ ทำไปเถอะ) “
“วันที่ ๑๐ เมษา วันนี้เธอบ่นว่าปวดแขน อย่าลืมไปนวดแขนให้ละจะได้แต้ะอั๋งซะ ยังดีซะกว่าเพื่อนเราบางคนต้องไปนวดตีน เหอะๆ”
“วันที่ ๑ พฤษภา ไปต่างจังหวัด ไม่ได้อยู่ดูแลที่รักเลย ก่อนกลับอย่าลืมถามว่าที่รักอยากได้อะไรบ้าง”
“วันที่ ๑๙ มิถุนา ๒๕๕๑ (อยาก) กอดเธอวันละหนึ่งครั้ง (อยาก) บอกรักเธอทุกวัน”

เด็กน้อยเผลอหลับไปในช่วงเวลานั้นเอง...... รุ่งเช้าวันต่อมาหลานชายตื่นขึ้นมาด้วยความฉงนสงสัยยิ่งนักว่าทำไมจดหมายจึงเขียนมาถึงปัจจุบัน หลายชายตามหาคุณปู่ เช้าวันนี้คุณปู่นั่งเล่นอยู่ที่สวนหลังบ้าน หลานชายเข้ามานั่งใกล้ๆแล้วถามขึ้นว่า “คุณปู่เล่าเรื่องคนรักที่อยู่ในกล่องนั้นให้ผมฟังหน่อยจิ”

ปู่ยิ้มแล้วตอบว่า”เอากล่องใบใหญ่ หรือ กล่องแหวนใบเล็ก” คำถามดังกล่าวทำให้หลานชายงง หลายชายตอบกลับไปว่า “งั้นเอากล่องใบเล็กก่อน” ปู่จึงเริ่มเล่าให้ฟังว่า “สมัยที่ยังหนุ่มอยู่นั้นได้ชอบหญิงสาวคนหนึ่ง หญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน ชอบเธอมานานแล้วและได้ใช้เวลาดูแลเธออย่างที่ความทรงจำดีดีไม่เคยลืมเลือน ด้วยความอ่อนหวานได้ขัดเกลาความแข็งกระด้างในจิตใจ ด้วยรอยยิ้มได้เจือจางความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน เป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนสิ่งดีดี มิตรภาพยั่งยืนยิ่งกว่าสิ่งใดแต่ก็ไม่เคยได้เอ่ยปากบอกความจริงใดๆ จนมาถึงวันหนึ่งวันที่เธอจะต้องจากลาไปยังที่อื่น ที่ที่ห่างไกลกัน เธอต้องไปแต่งงานกับคนที่พ่อแม่ของเธอจัดไว้เป็นคู่หมั้น วันนั้นปู่ได้ตัดสินใจหยิบเอากล่องแหวนดังกล่าวไปด้วย ไปหาเธอ ไปเพื่อบอกความในใจ เมื่อพบเธอคนนั้นต่างฝ่ายต่างมองตากัน บางครั้งภาษาไม่ได้สื่อสารกันทางคำพูดแต่ด้วยกริยา ปู่หยิบเอากล่องดังกล่าวขึ้นมาแล้วเปิดกล่องดังกล่าวออก กล่องใบเล็กดังกล่าวเป็นเพียงแค่กล่องเปล่า

ชายหนุ่มวันนั้นได้เอ่ยปากกับหญิงสาวเพียงว่า
“วันนี้ฉันไม่มีอะไรจะให้เธอ ฉันมีเพียงแค่กล่องใส่แหวน แต่ฉันไม่มีเงินพอจะซื้อแหวนให้เธอหรอก เธอรับไปเถอะ............................................................”
หญิงสาวยิ้มแล้วยื่นมือมาที่ชายหนุ่ม “สวมให้ฉันสิ......................(หญิงสาวนิ่งเงียบ)................................. สวมแหวนสูญากาศให้ฉันเถอะ” หญิงสาวยิ้มด้วยความยินดีถึงแม้ในกล่องแหวนจะว่างเปล่า ชายหนุ่มดีใจยิ่งนัก ยื่นมือไปหยิบแหวนที่อยู่ในจินตนาการของทั้งสองขึ้นมาและสวมไปที่นิ้วนางของหญิงสาว” หลังจากนั้นปู่ก็ไม่ตอบอะไร เพียงแค่ยิ้มเท่านั้น
หลานชายถามต่อไปว่า “แล้วกล่องใบใหญ่ละครับ” ปู่หัวเราะและตอบว่า “ความจริงทั้งกล่องใบใหญ่และกล่องใบเล็กไม่ได้ต่างกัน ทั้งคู่เป็นเพียงจินตนาการ”
ทั้งคนที่ผิดหวังและสมหวังต่างก็ทำสิ่งดีดีเพื่อคนที่ตัวเองรัก แล้วทำไมเราจะต้องหยุดทำด้วยล่ะครับ...........


(เรื่องนี้ผมคิดเอง แต่ดัดแปลงจากบทละครญี่ปุ่นเรื่อง Always sunshine)
ภูมินทร์ บุตรอินทร์

ชำเลืองใต้เงาโดม ตอนที่ ๓ – ความรักของแมลงเม่าและหิงห้อย

เนื่องจากใกล้วันตรุษและวันวาเลนไทน์ ตัวผมนั้นกำลังจะไปเมืองจีนในวันมะรืนนี้แล้ว แต่ผมก็บังเอิญได้ไอเดียเขียนเรื่องสั้นให้เป็นของขวัญสำหรับวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงเร็วๆนี้สำหรับทุกๆคนครับ เรื่องนี้ผมได้ไอเดียจากทฤษฎีความขัดแย้ง (Dialectics) ของนักปรัชญาเยอรมันชื่อ Hegel โดยมีเนื้อเรื่องดังนี้ครับ





“คืนวันหนึ่งในเขตทะเลป่าชายเลน ลมพัดพร้าวไหวเย็นสบายพร้อมเสียงคลื่นเบาๆริมฝั่งทะเลเขตการประมงของชาวเล มองไปสุดสายตาเห็นแสงไฟริบหรี่ ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากกองถ่านที่ไหม้เถ้าของเศษไม้โกงกาง เรื่องของความรักน้อยนิดเริ่มที่นี่และจบลงที่นี่

ก่อนหน้านี้ไม่นานนักคือจุดกำเนิดของเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและการอธิบายซึ่งกันและกันระหว่างแมลงเม่ากับหิงห้อย “ทำไมธรรมชาติแมลงเม่าจึงต้องบินเข้าในกองไฟและทำไมหิงห้อยจึงต้องกระพริบส่องแสง”
ในคืนก่อนหน้านั้นมีแมลงเม่าฝูงใหญ่บินผ่านต้นลำพูใหญ่อันเป็นที่รักที่หวงแหนยิ่งนักของกลุ่มชาวหิงห้อยกระพริบแสง ผ่านเพื่อไปสู่จุดหมาย หรือ ผ่านเพื่อไปสู่จุดจบ? กองไฟคือคำตอบหรืออย่างไร?

แมลงเม่าหนุ่มตัวหนึ่งพลั้งเผลอพลัดหลงทางจากฝูงของตนล่วงลงมาสู่ต้นลำพูใหญ่ ที่ซึ่งมีกลุ่มหิงห้อยกำลังสุขสันเหลือเกินกับการกินใบต้นลำพูใหญ่..................................

หิงห้อยผู้หวงแหนฯ ตะโกนถามแมลงเม่าหนุ่มว่า “เจ้าโง่ แกมาทำไมที่นี่ไม่ทราบ” แมลงเม่าหนุ่มตอบว่า “ข้าพลัดหลงจากฝูงที่กำลังบินไปยังกองไฟอันเกิดจากการเผาไม้โกงกาง เจ้ารู้หนทางไปสู่กองไฟรึไม่” กลุ่มหิงห้อยเหล่านั้นหัวเรอะร่าและพากันเย้ยหยันว่า “ดูก่อนพวกเรา เจ้าโง่นี่กำลังจะไปตายในไม่ช้า เพราะไม่สำเหนียกในความร้อนแรงของเปลวไฟ” แมลงเม่าตอบว่า “เปล่าเลย กองไฟอบอุ่น บางสิ่งที่ดูขมขื่นเช่นนั้น อาจอบอุ่นเข้าไปถึงหัวใจก็ได้ถ้าเข้าถึงอุดมคติแห่งความรัก” หิงห้อยเย้ยกลับว่า “เจ้านี่คงตาบอดเข้าแล้ว เวลามองเห็นแสงที่สว่างจ้าจากกองไฟ” แมลงเม่าหยุดคิดและตอบกลับไปอย่างช้าๆว่า “ข้าก็ไม่ได้ตาบอดนี่ ข้ายังมองเห็นพวกท่านกระพริบแสงอยู่เลยหลงเข้ามา เพียงแต่กองไฟทำให้ข้ามองเห็นอะไรบางอย่าง ทำให้ข้าตาสว่างไง”
“ถ้าเจ้าตาสว่างจริง เจ้าคงทำเหมือนเช่นที่พวกข้าทำ อยู่อย่างสุขสบายที่ต้นลำพูใหญ่นี้ คอยส่องแสงสวยงามให้ผู้คนได้เห็น” หิงห้อยตอบ
แมลงเม่ายิ้ม ก่อนทิ้งประโยคสุดท้ายก่อนจากไปว่า “ท่านทั้งหลายคงยังแยกไม่ออกจริงๆ ระหว่างคำว่า”รัก” และ “การครอบครอง”(ต้นลำพูและอื่นๆ) “ตัวข้านั้นมีความรักต่อกองไฟ แสงไฟ แต่ข้าไม่ได้ต้องการไปครอบครอง หวนแหน กีดกันเหมือนอย่างพวกท่านเลย ข้าใช้เพียงอย่างเดียวก็คือสัญชาติญาณ.............. มันบอกให้ข้ารู้เพียงว่า ข้ารักแสงไฟอันอบอุ่นนั้นด้วยสัญชาติญาณบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีกับตัวข้า ความร้อนของไฟทำให้ข้าปีกหลุด ทำให้ข้าได้พบกับคนที่ข้ารักและการเกิดใหม่”

.....................................................ใครจะรู้ว่าแมลงเม่าพูดถูก ตามธรรมชาติเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ การสลัดปีกของแมลงเม่าเกิดขึ้นจากความอบอุ่นของแรงไฟ ความจริงแมลงเม่าคือพญาปลวกที่ต้องการการเกิดใหม่(Reborn) เชื่อไหมว่าในช่วงฤดูหาคู่ ปลวกจะออกจากรังกลายสภาพเป็นแมลงเม่าเพียงเพื่อไปตามหาคู่ของมัน การเดินต่อตัวเป็นขบวนรถไฟที่เราเห็นก็คือการหยอกเย้ากระเซ้าเย้าแหย่กันและกันภายหลังจากที่ปีกหลุดไปแล้ว ในขณะที่ตัวด้วงอย่างหิงห้อยกำลังรอความตายภายในระยะเวลาไม่เกินสองสัปดาห์ตามอายุขัยของมันภายหลังจากที่เปล่งแสงเต็มที่

ตัวเราเองก็ไม่ได้ต่างอะไรจากแมลงเม่าเลยครับเพราะบางครั้งเราเองก็ใช้สัญชาติญาณเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่างที่อยู่เหนือเหตุและผล ด้วยข้อจำกัดของภาษาเราไม่อาจอธิบายบางอย่างออกมาได้ เราไม่อาจอธิบายเหตุผลตามสัญชาติญาณได้ด้วยการเอ่ยปาก อักษร ๔๔ ตัวคงน้อยเกินไป

เมื่อคุณเกิดรักใครสักคนที่มีความเป็นไปได้ยากด้วยเหตุผลต่างๆนานาเรามักจะอธิบายด้วยคำว่า “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” แต่ใครจะรู้ว่า แมลงเม่าก็มีเหตุผลของตัวเองตามสัญชาติญาณของการหาคู่และสานต่อ ตัวเราเองก็เช่นกัน ถ้าเรารักใครสักคนที่แม้เราไม่เคยเผชิญหน้าด้วยเลยสักครั้ง ถ้าเราจะบอกว่า “เรา.......ใช้สัญชาติญาณตามธรรมชาติเพื่อจะอธิบายว่าคนที่เราแอบมองอยู่นั้นเป็นคนที่อบอุ่นแสนดี บางทีคนๆนั้นอาจมีบางอย่างที่เราคงต้อง......ปีกหลุด....เพื่อการเกิดใหม่.......................แต่ไม่ใช่เพื่อการครอบครองและหวงแหนไว้คนเดียว


บางที สัญชาติญาณบอกให้รู้ว่าเรากำลังจะรักใคร..........................................................โดยที่ภาษา กริยา เหตุผลกำลังตาบอดและหูหนวก



การอธิบายบทละครด้วยทฤษฎีความขัดแย้ง

ตามที่นักปรัชญากรีกนิยมใช้กันนั้น Dialectics เป็นกระบวนการค้นหาสัจจะเชิงอภิปรายให้เหตุให้ผล วิธีการนี้ นักตรรกวิทยาสมัยปัจจุบัน เรียกกันว่า “แนวปฏิปักขนัย” (The Contradictory) เช่นบางคนอาจตั้งสมมติฐานขึ้นเป็นข้อยืนยันเกี่ยวกับ “ความเป็นธรรม” ว่ามีความหมายอันเดียวกันกับการพูดความจริงและความซื่อสัตย์ ประเด็นนี้เรียกว่า “ตัวยืน” (Thesis) ขั้นต่อไป คือพยายามหาเหตุผลตรงข้าม หรือขัดแย้งกับตัวยืนยันดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม แต่ไม่เกี่ยวกับการพูดความจริง และความซื่อสัตย์เลย เช่นการกระทำใด ๆ ที่ให้เกิดความสมใจทั้งสองฝ่าย เช่นนี้ เป็นต้น ประเด็นนี้ให้ชื่อว่า “ตัวแย้ง” (Antithesis) การประนีประนอม หรือการสังเคราะห์ฝ่ายที่เป็นตัวยืนกับฝ่ายที่เป็นตัวแย้งเข้าด้วยกันให้ชื่อว่า “ตัวสังเคราะห์หรือตัวยุติ” (Synthesis) ความก็จะเป็นว่า “ความยุติธรรม คือการพูดความจริงและความซื่อสัตย์ที่ให้เกิดความสมใจทั้งสองฝ่าย” ประเด็นที่สามนี้ดีกว่าและถูกต้องกว่าสองประเด็นแรกที่ขัดแย้งกันนั้น ด้วยอาศัยการลำดับช่วงความคิดเป็นทอด ๆ เช่นนี้ ช่วยให้เราได้เข้าถึงความหมายที่ถูกต้องของเรื่องนั้น ๆ
ต่อมาได้มีนักปรัชญารุ่นหลังหลายคน นำเอาสูตรนี้มาปรับปรุงใช้ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในเรื่องนี้ คือนักปรัชญาเยอรมันชื่อ Hegel เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ เฮเกลได้ชี้ใช้เห็นว่า สรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงขยายตัวมันเองอย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนานี้เป็นไปทีละขั้น ทุกขั้นทุกระดับมีการสืบเนื่องต่อกันเป็นช่วง ๆ การขยายตัวในขั้นตอนใหม่ย่อมมีรูปแบบ ปริมาณ คุณภาพ และคุณสมบัติดีกว่า ประเสริฐกว่าขั้นที่เกิดขึ้นก่อนเสมอ วิวัฒนาการดังกล่าวมิได้เป็นไปในทำนองสักแต่ว่าเป็นกระบวนความเจริญเติบโตคลี่คลายธรรมดา ๆ เท่านั้น หากเป็นไปโดยอาศัยมูลเหตุ คือ “ความขัดแย้ง” ซึ่งมีในตัวสิ่งนั้น ๆ อยู่แล้ว ในเรื่องสังคมและชีวิตมนุษย์ก็มีนัยเช่นเดียวกัน กล่าวคือได้มีการคลี่คลายขยายตัวกันมาเป็นขั้น ๆ ทั้งนี้เพราะมีพลังสองประเภทกระทำการขัดแย้งต่อต้านกันและกันอยู่เนืองนิตย์ (Opposed forces) ทำให้สังคมและชีวิตมนุษย์พัฒนาระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง
ตามสูตรนี้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ถูกต้อง ดี เลว ไปทุกอย่าง และจีรังยั่งยืนตลอดไป สรรพสิ่งอยู่ในสภาพไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพราะสรรพสิ่งมีพลังบวกกับพลังลบ หรือเรียกอีกอย่างคือ พลังสร้างสรรค์กับพลังทำลายอยู่ในตัว ดูเปรียบเทียบชีวิตเราที่เจริญเติบโตมาเรื่อย ๆ เป็นเพราะในตัวเรามีทั้งการทำลายและการสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ความคิดความอ่านและความเชื่อถือก็เหมือนกัน ย่อมมีการปรับตัวและแปรสภาพอยู่เสมอ มิใช่มีอยู่อย่างไรก็อย่างนั้นเป็นนิรันดร
ทั้งนี้เพราะมีการขัดแย้งกันอย่างไม่หยุดยั้งระหว่างของเก่ากับของใหม่ ครั้นแล้วจากการขัดแย้งกันนั้น จึงจะบังเกิดสิ่งที่สามขึ้นมา โดยการประสมกลมกลืนสิ่งทั้งสองเบื้องต้นที่ขัดแย้งกันนั้นเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่สามนี้มีสถานภาพดีกว่าและเหนือกว่าสิ่งทั้งสองที่ขัดแย้งกัน ไม่ช้าไม่นานสิ่งที่สามก็จะกลายเป็นตัวยืน และภายในตัวยืนนี้ก็จะเกิดพลังตรงข้ามก่อความขัดแย้งขึ้นอีก กระบวนการเป็นไปเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
สังคมย่อมมีวิวัฒนาการไปตามสูตรนี้ ทุกขั้นตอนของวิวัฒนาการย่อมมีความขัดแย้งภายในสังคมนั้น ๆ อันเป็นตัวการให้สังคมนั้นเจริญก้าวหน้า พลังขัดแย้งต่อสู้กันเป็นสภาวะประจำธรรมชาติของสรรพสิ่ง เมื่อกาลเวลาและพฤติการณ์บรรลุถึงขีดอันควรแล้ว พลังดังกล่าวก็จักทวีความขัดแย้งต่อต้านขึ้นเป็นลำดับจนถึงขั้นแตกหัก จากนั้นก็จะเกิดระบบสังคมใหม่ขึ้น ซึ่งอยู่ในระดับสมดุลเหนือระดับเดิมทั้งสองที่ต่อสู้ล้างผลาญกัน เศษเหลือเดนบางส่วนจะสลายตัวไป บางส่วนที่ดีจะถูกกลืนเข้าไปในของใหม่ ด้วยประการฉะนี้ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของสังคมมนุษย์ ย่อมดำเนินไปจากขั้นต่ำและหยาบ ๆ จนบรรลุถึงขั้นสูงและละเอียดซับซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะไปถึงขั้นที่สุดท้ายของกระบวนวิวัฒนาการ
ตามทัศนะของเฮเกล สูตรความขัดแย้งนี้เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ และสรรพสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติย่อมเป็นไปตามนั้น เราสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลกตามบันทึกประวัติศาสตร์ได้ถูกต้องถ่องแท้ ก็ด้วยการสังเกตดูความเจริญเติบโตของประชาชาติทั้งหลาย (The Nations) ในแง่ที่เป็นไปตามสูตรความขัดแย้ง อารยธรรมของมนุษย์ชาติหนึ่ง ๆ เมื่อขยายเติบโตขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้ชาติอื่น ๆ เป็นคู่อริขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการขัดแย้งกันระหว่างชาติเหล่านั้น เมื่อการต่อสู้ล้มล้างกันถึงที่สุดอารยธรรมใหม่จะเกิดขึ้นมาแทน โดยเลือกเฟ้นเอาแต่คุณค่าส่วนดีที่สุดจากอารยธรรมเดิมทั้งสองนั้นมาปรุงเข้าด้วยกัน
กระบวนวิวัฒนาการเช่นนี้ จะนำพาอารยธรรมมนุษย์ดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ที่เรียกกันว่า “สารัตถะสูงสุดของชีวิต” (The Spirit) รัฐทุกรัฐก็จะหล่อหลอมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ “ความคิดสมบูรณ์แบบ” (The Absolute Idea)
แนวคิดเกี่ยวกับสูตรความขัดแย้ง ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อคาร์ล มากซ์ โดยได้เลียนแบบสูตรดังกล่าวนี้มาอรรถาธิบายกระบวนวิวัฒนาการของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจระบบต่าง ๆ ตามบันทึกประวัติศาสตร์ในเชิงวัตถุนิยม พลังใหญ่ที่สุดที่ผลักดันให้กระบวนวิวัฒนาการนี้เป็นไป ได้แก่พลังความขัดแย้ง เกี่ยวกับวัตถุเครื่องยังชีพหรือเศรษฐปัจจัย ในกระบวนการผลิตของรัฐระบบนั้น ๆ กระบวนวิวัฒนาการนี้แต่ละช่วงแต่ละระดับจะมี 3 ตัว ประกอบ (Factors) คือ:-
1. ตัวยืน (Thesis)
2. ตัวแย้ง (Antithesis)
3. ตัวยุติ (Synthesis)
1. ตัวยืน หมายถึง ความจริง เหตุผล ความเชื่อ ค่านิยม ระบบสังคม ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา อันเป็นแนววิถีชีวิตแบบเก่า ซึ่งถือเป็นตัวยืน(ชั่วขณะหนึ่ง) ในทีนี้เราใช้ T แทน ค่าตัวยืน
2. ตัวแย้ง หมายถึง ความจริง เหตุผล ฯลฯ ประเภทที่สอง ซึ่งถือกำเนิดออกมาจาก T แต่มีสภาพขัดแย้งกับ T กล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ความจริง ฯลฯ แบบที่สองเกิดขึ้นมา แม้มีรากเหง้ามาจาก T แต่ได้กลายเป็นพลังขัดแย้งกับ T ในที่นี้ใช้ A แทน ค่าตัวแย้ง
3. ตัวยุติ หมายถึง ความจริงฯลฯ ที่สามเกิดจากผลกระทบขัดแย้งแล้วผสมผสานหล่อหลอม ส่วนที่เหลือเข้าด้วยกันระหว่าง T กับ A ความจริง ฯลฯ ประเภทที่สามย่อมดีกว่า ถูกต้องกว่า ความจริง ฯลฯ สองประเภทแรกที่สลายตัวไป ในที่นี้เราใช้ S แทน ค่าตัวยุติ

Thursday, February 4, 2010

ขอขอบคุณผู้ช่วยงานหนังสือปรัชญาการเมืองเบื้องต้น

วันนี้ผมต้องขอประกาศในบล้อกเพื่อขอบคุณนักศึกษาท่านหนึ่งที่อาสามาช่วยงานผมครับ นั่นคือ กนกวรรณ หรือ เนียนที่เรียนปี 1 คณะสหวิทยาการครับ ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือนี้ หนังสือคงไม่เสร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง อีกทั้งคนที่สามารถอ่านและพิมพ์หนังสือปรัชญาการเมืองของพ่อผมได้นี่ต้องเก่งไม่เบาเลยครับ เพราะภาษายากมากเลยทีเดียว (ซึ่งยังไม่รวมตัวเนื้อหาด้วยแล้ว)

ผมต้องประกาศให้ทุกๆคนได้รู้ถึงความมีนำใจของเพื่อนเราคนนี้นะครับ

อ ภูมินทร์ บุตรอินทร์

Monday, February 1, 2010

เรื่องเล่าจากเด็กวัด- วาทะกรรมของคนรากหญ้า

“อาจารย์ครับๆ เข้าใจ๋ที่ผมเว้าบ่อ ผมเฮียนมาน้อยกลัวพูดไปอาจารย์บ่ฮู้” เสียงทักของพี่จ่อยยังสะกิดใจผมเสมอมา
สามปีที่ผมเคยอยู่วัดมานี้ทำให้ผมต้องล้างทฤษฏีเดิมๆ ทิ้งให้หมด ผมต้องละทิ้งและชำระอัตตาที่ติดตัวมาไปจนสิ้น ผมได้พบเจอ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ร่วมทุกร่วมสุขกับชีวิตอีกหลายมุมที่อยู่แทบจะคนละขั้วของชีวิตเลยก็ว่าได้
สามปีที่ผ่านมานี้ มีคนไทยจำนวนมากมายที่ดิ้นรนมาหางานทำที่ฝรั่งเศส บ้างก็โดนจับกลับ บ้างก็ถูกขัง บ้างก็นอนหนาวตาย บ้างยอมขายตัว และบางส่วนหมดหวัง สิ้นหวัง คนเหล่านี้เป็นครูของผมทั้งนั้น ถ้าคุณได้สัมผัสกับคนที่ถูกเรียกว่ารากหญ้า คุณจะรู้ว่า”รากหญ้านั้นอ่อนโยนและชุ่มชื้น” เพียงไร
ปีที่ผ่านมานี้ผมกลับมาที่วัดและพบว่ามีคนงานมาอาศัยวัดมากมายราวๆ หกเจ็ดคน ทุกคนมาเพราะถูกนายหน้าค้าแรงงานหลอกว่าจะมีงานทำโดยถูกต้องตามกฎหมายด้วยการจ่ายค่าหัวคนละสี่แสนบาท เงินมากถึงเพียงนี้ทำไมถึงยอมจ่าย คำตอบง่ายๆก็คือ อยู่ไปก็อดตาย ออกมาอาจรอดได้บ้าง ทุกคนต้องต่อเครื่องมาหลายประเทศแต่จบท้ายด้วยการนอนข้างถนน หรือ ในรถไฟใต้ดิน
คนแรกที่ต้องเล่าคือ พี่จ่อย ถึงชื่อจะจ่อยแต่ตัวจริงไม่จ่อยเลย กล้ามเนื้อกำยำล่ำสัน ทำงานห่ามรุ่งหามค่ำทุกวัน ถ้าคุณสมมุติตัวเองว่าทำงานก่อสร้างกลางแจ้งสิบสี่ชั่วโมงในอุณหภูมิลบหกองศา คุณก็คงไม่เห็นภาพ คุณจะรู้สึกร่วมไม่ได้ด้วยการแค่คิดตามคำพูด แต่คุณต้องลงไปจับพลั่วที่หนาวเย็นราวกับจับก้อนน้ำแข็ง แบกหามน้ำหนักที่เท่าตัวคุณเป็นวันๆ

ครั้งแรกที่ผมเจอพี่จ่อยผมกลัวเป็นอย่างยิ่ง ด้วยกริยาท่าทางดุดัน เสียงกระโชกโฮกฮากราวกับจะตะคอกใส่เราเสมอ หน้าตาเคร่งขรึมไม่เป็นมิตร แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความดิบเหล่านี้คือความจริงใจครับ ถ้าคุณได้สัมผัส คุณจะรู้ว่าการที่เราไร้การศึกษานั้นสูงค่ากว่าคนมีการศึกษาเสียอีก เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้โดนห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็งโสโครกอย่างอัตตา ความตอแหล และการแบ่งชนชั้น
พี่จ่อยเรียนจบแค่ ป หก แต่ได้ตระเวนไปแทบจะรอบโลก ไม่ว่าจะอิสราเอล ซาอุฯ ออสเตรเลย ญี่ปุ่น เกาหลี แต่มาจบลงที่คุกสวิสเซอแลนด์ อย่าถามนะครับว่าไปพลาดท่าอย่างไร ก็ด้วยความซื่อนี่แหละ พี่จ่อยเล่าว่าด้วยเหตุเพราะไปรักแหม่มสวิสที่พบกันในย่านจีนกลางเมืองปารีส เพราะสาวแหม่มเกิดไปติดใจความจริงใจที่แท้จริงและท่าเต้นชูวีดูวับผสมเซิ้งกระติ้บสุดเท่ของพี่จ่อย (ขนาดผมยังทึ่งในความเท่สุดๆ)
พี่จ่อยเล่าว่าหลังจากเจอแหม่มก็ได้ติดต่อผ่านทางจดหมาย ด้วยลายมือของเพื่อนชาวลาวและถ้อยทำนองการแปลภาษา ทำให้พี่จ่อยได้ส่งความอ่อนหวานที่ซ่อนอยู่ไปถึงสาวแหม่มเป็นระยะๆ ความรักไม่ขาดช่วง ความรู้สึกไม่มีพรหมแดนจริงๆครับ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะด้วยกฎเกณฑ์ที่มนุษย์ตั้งขึ้นมันมีพรหมแดน……..
พี่จ่อยเริ่มหยุดยั้งความรู้สึกไม่อยู่ ตัดสินใจเดินทางไปสวิสเซอแลนด์ ด้วยรถโดยสารบ้าง เดินไปบ้าง โบกไปบ้าง ด้วยน้ำพักน้ำแรงที่เก็บออมมานั้นเอง ด้วยความซื่อที่หักห้ามหัวใจไม่ได้ ชายหนุ่มร่างกายกำยำผิวคล้ำ บึกบึนเลือกที่จะไปตามหาหัวใจ แต่ด้วยความตรงไปตรงมา พี่จ่อยลืมนึกไปว่าตัวเองนั้นไม่มีพาสพอร์ตและวีซ่า เมื่อไปถึงด่านตรงคนเข้าเมือง ด้วยความที่จิตใจเร่งรีบและรอคอยจึงเดินตรงลี่ไปที่ด่านโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น พี่จ่อยเล่าว่าตำรวจตกใจและวิ่งมาล๊อคตัวว่าเขาจะทำอะไรผิด ด้วยความตรงไปตรงมาพี่จ่อยพูดเป็นภาษาไทยอีสานแบบน้ำเสียงกระโชกก้าวร้าวกับตำรวจเพื่ออธิบายไปเฉยๆ ว่าจะไปหาแหม่มที่รัก ผลลัพธ์แห่งรักที่รอคอยคือไปอยู่คุกสวิสฯสองเดือนครับ ระหว่างนั้นความรู้สึกที่ร้อนรนก็ถูกละลายลง อ่อนตัวลงและเย็นลง
ทุกครั้งที่ผมถามไถ่เรื่องราวชีวิต พี่จ่อยจะพยายามพูดสุภาพราวกับว่าผมเป็นผู้ที่อยู่สูงกว่าเสมอและให้เกียรติผู้มีการศึกษาอย่างยิ่ง ประโยคหนึ่งที่ผมจะพูดกันเสมอก็คือ “เราก็คนเหมือนกัน สองตีนติดดิน อย่าทำให้มันมีชนชั้นอีกเลย” แต่สิ่งที่พี่จ่อยและคนอื่นๆ ตอบกลับมาเสมอก็คือ “ผมเฮียนมาน้อยกลัวพูดไปอาจารย์บ่ฮู้” คนเหล่านี้ให้เกียรติเราที่การศึกษาและคุณธรรม ไม่ใช่เพียงระดับของการศึกษาแต่เพราะเราได้ถ่ายทอดการศึกษาด้วย วาทะกรรมของรากหญ้าช่างยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์จริงๆ

Wednesday, January 27, 2010

ประกาศเรื่องไปทัศนะศึกษาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส (เชียงใหม่)

นศ ท่านใดที่สนใจไปดูงานที่สถานกงสุลฝรั่งเศส (อยู่ตรงข้าม รร CHEDI ริมน้ำปิงหลังตลาดไนบราซ่า) สามารถไปร่วมงานได้ในวันที่ 5 กพ 2553 นี้นะครับ นศ สามารถไปได้ทุกๆคนโดยไม่จำกัดว่าเป็นคนที่ลงทะเบียนเรียนภาษาฝรั่งเศส อาจารย์ ดร ฐาปนันท์ กับ อ ภูมินทร์จะไปรอที่สถานกงสุลฯ เชียงใหม่และจะเริ่มกิจกรรมกันตั้งแต่ 10.00-12.00 น

กิจกรรมมีดังนี้ครับ
1. ท่านกงสุลฝรั่งเศสแนะนำสถานที่และพาเที่ยวห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ
2. พาเข้าชมวัฒนธรรมฝรั่งเศส - ดูหนังฝรั่งเศส
3. กิจกรรมสันทนาการตามอัธยาศัย (เที่ยวเล่นสายลมแสงแดด กินกาแฟ ฯลฯ)

นศ ที่สนใจสามารถไปลงทะเบียนได้ที่คุณศศิวิมลพร หรือพี่นกนะครับ

อ ภูมินทร์ บุตรอินทร์

Tuesday, January 26, 2010

“ ข้าพเจ้าอาจเดินช้า แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเดินถอยหลัง”

สวัสดีครับ ทุกๆคนที่พึ่งรู้คะแนนสอบไป ขออย่าได้ท้อแท้กับการรู้คะแนนนะครับ วันนี้มี นศ เขียนมาถามวิธีการตอบข้อสอบ ดังนั้นอาจารย์ขออธิบายอย่านี้นะครับ
๑ การจำเลขมาตราได้แม่นนั้นอาจเป็นดาบสองคม หมายความว่า ถ้าจำได้จริงๆก็จะดีมาก แต่ถ้าไม่ใช่ หรือ จำผิดจะถูกหักคะแนนมาก(โดยเฉพาะสอบในระดับสูงขึ้นไปอีก เช่น เนติ ผู้ช่วย พพษ)เนื่องจากนักกฎหมายต้องมีความแม่นยำ การที่เราไม่แม่นยำนั่นหมายถึง อาจทำให้คนๆหนึ่งตายได้ หรืออาจเสียเสรีภาพไปเลย ดังนั้นถ้าไม่แม่นยำ อย่าไปเขียนลงไป
๒ การเรียน กม ไม่ได้ทดสอบความจำ (เลขมาตรา)แต่ทดสอบความสามารถในทางให้เหตุทาง กม ดังนั้น แม้ว่าจะจำเลขมาตราไม่ได้ แต่วางหลัก กม ไว้ชัดเจนก็แสดงถึงความรู้ความเข้าใจ
๓ การเขียนว่า "หลักกฎหมายที่...วางหลักว่า"อาจทำให้งงและสับสนได้ เราอาจดำเนินการดังนี้
ก)ถ้าจับประเด็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวคือเรื่องอะไร โจทก์ถามอะไร เช่น ประเด็นเป็นเรื่องกลฉ้อฉล เราอาจใช้คำว่า "ในประเด็นเรื่องกลฉ้อฉลนี้วางหลัก กม ไว้มีสาระสำคัญดังนี้.....๑.....๒...๓"
ข)การที่เราเขียนหลักรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวได้ ไม่ใช่การสมมุติเอาเองแน่นอนครับ เพราะเมื่อผู้ตรวจได้อ่านก็จะรู้ได้ว่าคุณเข้าใจและไปถูกทาง แต่ที่จะทำให้ไปไกลกว่าเดิมก็คือว่า ทำอย่างไรให้ผู้ตรวจเห็นว่าคุณเข้าใจในหลัก กม ดังกล่าวจริงๆ นั่นหมายความว่าจะต้องแจกแจงหลัก กม เข้ากับข้อเท็จจริงอย่างละเอียดครับ
พูดง่ายๆก็คือ ต้อง "รู้รอบทิศ คิดรอบด้าน"ในข้อเท็จจริงนั้นๆ สิ่งนี้ละครับที่ทำให้นัก กม เราเหนือกว่าคนอื่น ไม่ใช่ความจำครับ

สำหรับทุกคนที่คะแนนไม่ดีและรู้สึกท้อแท้กับการเรียน กม

ผมขอนำคำพูดของนักกฎหมายผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งมากล่าว ไม่ใช่ใครครับ ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกา รัฐบุรุษผู้เปลี่ยนโลกชื่อ อับราฮัม ลินคอร์นนั่นเอง ท่านกล่าวว่า
“ ข้าพเจ้าอาจเดินช้า แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเดินถอยหลัง”

Wednesday, January 20, 2010

เสียงรถไฟ ณ ขุนตาลธารชมพู

เสียงรถไฟ ณ ขุนตาลธารชมพู


ทุกๆ เย็น ณ ห้างฉัตร เรามักจะได้ยินเสียงหวูดรถไฟแล่นผ่านด้านหลังของมหาวิทยาลัยของเราแห่งนี้ วันนี้ผมสังเกตได้อย่างหนึ่งก็คือเด็กๆมีสีหน้าแสนเศร้าปนสุขอย่างบอกไม่ถูก ส่วนใหญ่สมาธิไม่อยู่กับเนื้อกับตัวละครับ......ช่วงสุดท้ายที่ผมสอน ไม่มีใครอยากฟังอีกแล้วเนื่องจากทุกๆคนต่างรอคอยวันกลับบ้าน
ใครๆคงไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยของเรานอกจากใกล้ขุนตาลแล้วยังใกล้สถานที่สำคัญสำหรับตัวผมอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือธารชมพู สะพานสีขาวพาดผ่านลำธารสายเล็กในบริเวณนี้ สะพานดังกล่าวเป็นที่สุดท้ายก่อนที่รถไฟสายเหนือจะขึ้นไปยังเชียงใหม่
ผมเองพอจะนึกภาพออกครับ เวลาพวกเราดีใจจนเนื้อเต้นรอคอยจะได้กลับบ้านที่เราจากมา คงเป็นครั้งแรกของหลายๆคนที่ต้องหลุดออกจากอ้อมอกของพ่อแม่และมีชีวิตที่เป็นอิสระของตัวเอง ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ หลังจากจบมัธยมปลายที่เชียงใหม่ ผมต้องเดินทางมาเรียนที่กรุงเทพฯ รังสิตและท่าพระจันทร์ วันเดือนปีที่รอคอยการกลับไปหาครอบครัวมันผ่านไปช้าแบบบอกไม่ถูก เวลาจะผ่านไปเร็วเมื่อเราได้อยู่กับคนที่เรารัก...พ่อ..แม่...พี่...คุณตาคุณยาย หรือ คุณปู่คุณย่า
ขุนตาลและธารชมพูมีความสำคัญกับผมยิ่งนักครับเพราะสมัยก่อนนั้น ผมจะกลับจากรังสิตมาเชียงใหม่ด้วยรถไฟเสมอครับ ผมนั่งรถไฟผ่านสถานที่นี้นับครั้งไม่ถ้วนเหมือนที่พวกเราจะต้องเจอไปอีกสี่ปีที่จะต้องกลับไปเยี่ยมบ้าน ถ้านั่งรถไฟไปเชียงใหม่ ธารชมพูเปรียบเป็นประตูสุดท้าย....ก่อนที่ผมจะได้เห็นแสงแดดที่เชียงใหม่ ก่อนได้สูดกลิ่นหอมของบ้านเกิดและก่อนที่จะได้เจอคนที่ผมรักและดูแลผมมาจนโต
ผมจำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่ง ผมไม่ได้ซื้อตั๋วรถไฟไว้ล่วงหน้า ปรากฏว่าปีนั้นคนนั่งรถไฟกลับบ้านช่วงปีใหม่เยอะมากจนเต็ม ผมคิดถึงบ้านเต็มทน คิดถึงแม่ คิดถึงพ่อ ผมไม่รีรอที่จะกลับ เอาข้าวของใส่เป้แบบไม่วางแผนอะไรทั้งสิ้นครับขอให้ได้กลับบ้าน ผมไปเบียดเสียดอยู่ที่หัวลำโพงจนได้ตั๋วแบบยืนที่ถูกที่สุดครับ (๑๕๐ บาทไปเชียงใหม่) ปรากฏว่าพอขึ้นรถไฟ ผมต้องยืนไปจนถึงอ่างทองนี้ไม่มีที่แม้แต่ให้ขยับตัว สุดท้ายต้องไปนั่งหลับที่ตู้เสบียงจนเช้า..... แต่เช้านี้ช่างคุ้มค่ายิ่งนัก หลังจากผมฟุบตัวนอนบนโต๊ะเสบียงจนถึงเช้า พอเงยหน้าแหงนมองหน้าต่าง ผมพบเห็นรถไฟจอดอยู่ที่สถานีห้างฉัตร ขุนตาลนั่นเอง ประตูด่านแรกที่ผมจะได้เจอหน้าพ่อแม่แล้ว
หลังจากนั้นผมรอคอยธารชมพู ประตูด่านสุดท้ายที่จะได้เจอบ้านเกิดเมืองนอนของผม ตื่นเต้นยิ่งนัก.............................................................เวลาผ่านไปแสนนาน ผมยังหวนคิดถึงวันเก่าๆเหล่านี้ แต่คราวนี้ไม่ใช่ผมที่คิดถึง แต่เป็นพวกเราเหล่า นักศึกษา มธก. นั่นเอง

๒๐ มค ๕๓

Sunday, January 17, 2010

ชำเลืองใต้เงาโดม ตอนที่ ๒ - บทละครแห่งเธอ (ต่อจากตอนแรก)


La confession du voleur 2: คำรับสารภาพของจำเลยฉบับที่ 2: เส้น แสง สี และสิ่งอื่น

หลังจากที่ศาลได้ตัดสินยกฟ้องจำเลยในคดีลักทรัพย์ภาพดอกทานตะวันซึ่งถึงแม้จะมีมูลฟ้องตามที่ศาลได้ไต่สวนแล้วนั้น แต่ต้องตัดสินยกฟ้องจำเลยอันเนื่องมาจากคดีนี้อัยการโจทก์(คดีอาญาลักทรัพย์ผู้อื่น)นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเลยได้ลักทรัพย์ภายในสิบปี ศาลจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย(เด็กชายที่เก็บภาพดอกทานตะวันไปเมื่อสิบปีก่อน)ไปโดยตัดสินว่าคดีนี้ขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕

โจทก์(เด็กหญิงเมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่เด็กชายหลงรัก)ไม่พอใจจึงนำคดีนี้มาฟ้องเป็นอีกคดีตั้งมูลฟ้องที่ต่างออกไปคือ จำเลยได้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานของโจทก์โดยนำออกเผยแพร่ในอินเตอเน็ต ถือเป็นการเผยแพร่งานจิตรกรรมของโจทก์สู่สาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาติตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๗

คดีนี้จำเลยต่อสู้โดยอ้างนิยามตามกฎหมายในมาตรา ๔ ว่างานของโจทก์ไม่ใช่งานจิตรกรรม(ศิลปกรรม)ตามนิยามของกฎหมาย. โดยนำสืบด้วยการนำพยานผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปฯ และ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจาก The Association of Southeast Asian Nations งานดังกล่าวไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใดใหม่ การลงสี การลงเส้น แสง เงา และ ไอเดียภาพดอกทานตะวัน (ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตาม รร อนุบาล)

โจทก์นำสืบว่างานดังกล่าวเป็นงานจิตรกรรมตามความหมาย กล่าวคือ “งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วย เส้น แสง สี และสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง” โจทก์(เด็กหญิงเมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่เด็กชายหลงรัก)ไม่ติดใจเรื่องเส้น แสง สี แต่ขอให้ศาลตีความคำว่า “สิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง” เพราะเธอมองว่าถ้าขาดซึ่ง “สิ่งอื่น” ดังกล่าวแล้วจำเลยคงไม่หลงไหลได้ปลื้มถึงขนาดขโมยเก็บไว้เกินกว่า ๑๐ ปีแน่นอน

สุดท้ายจำเลย(เด็กชายที่เก็บภาพดอกทานตะวันไปเมื่อสิบปีก่อน)รับในคดีโดยไม่นำสืบต่อเพราะคำว่า “สิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง” ในนิยามของกฎหมายมีความหมายต่อนิยามของชีวิตจำเลยด้วย เขากล่าวว่า “ถ้า แวง โก๊ะ ต้องบำบัดตัวเองที่ รพ เพราะการวาดภาพฉันใด จำเลยก็ต้องบำบัดด้วยภาพดอกทานตะวันเช่นกัน....................................................” จำเลย(เด็กชายที่เก็บภาพดอกทานตะวันไปเมื่อสิบปีก่อน)รับสารภาพต่อหน้าศาลตามข้อเท็จจริงว่า “หลังจากผ่านไปสิบปี จำเลยได้กลับมาพบโจทก์(เด็กหญิงเมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่เด็กชายหลงรัก)อีกครั้ง เมื่อทั้งคู่ได้รู้จักคุ้นเคยกัน คนสองคนพึ่งได้มารู้จักกันโดยไม่เคยพบหน้ามาก่อน แต่พบกันโดยบังเอิญในที่ๆบังเอิญเมื่อเวลาได้ล่วงผ่านไปแล้ว สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือเป็นนายธนาคารรับฝากเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากเธอ(เด็กหญิงเมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่เด็กชายหลงรัก).......รอวันเธอมาฝากให้เต็ม.............................................เพราะเขาก็สุขใจและรอปันผลเป็นรอยยิ้มเช่นกัน ช่วงที่ผ่านมาโจทก์ (เด็กหญิงเมื่อ ๑๐ ปีก่อนที่เด็กชายหลงรัก)เธอพึ่งเลิกรากับแฟนเก่า เธอเสียใจจากเรื่องบางเรื่อง ทั้งเกลียด ทั้งเข็ด เพราะนิยามรักของเธอตอนนี้คือ แปลงดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตา.....................
เพราะเธอกำลังเกลียดผู้ชายทั้งโลกเข้าเต็มประตู จำเลย(ซึ่งเป็นผู้ชายคนหนึ่ง)ก็เลยถูกจัดเข้ากลุ่มด้วย แต่ก็ไม่วายที่เขาต้องยอมตกเป็นจำเลย เพราะอะไรกันแน่.................................หรือเพราะคำว่า.................................................................................................... “สิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง”

Thursday, January 14, 2010

ชำเลืองใต้เงาโดม ตอนที่ ๑ – บทละครแห่งเธอ ภาคแรก

วันนี้ผมวิ่งไปรอบๆ มหาวิทยาลัย รอบๆบริเวณตึกโดม ตึกห้าชั้นยามเย็น ผมพบเจอเด็กๆ อยู่กันเป็นคู่ บ้างก็เดินจูงมือ บ้างก็พากันไปวิ่ง บางคู่นักอ่านหนังสือกันไป ส่วนพวกไม่มีคู่นี่ก็จับกลุ่มกันไปเรื่อยๆ เช่น พวกเด็กผู้ชายบางกลุ่มในวัยนี้ก็ไม่พ้นโลกนี้สีชมพูละครับ ใกล้จะวันวาเลนไทน์แล้วยิ่งกระดี้กระด้าทีเดียว ฝันหวานกันไปเรื่อยๆ บ้างก็สมหวัง (ผมแอบดูแถวๆโรงอาหารแล้วเดาเอา) ส่วนพวกผิดหวังนี่ยังกับไส้เดือนโดนขี้เถ้าละครับ ดิ้นกันไม่หยุด! บ้างก็ไปนั่งริมบึงทำอารมณ์ติส บ้างก็ไปวิ่งให้ฮอโมนเทสโทสเตอร์โรนมันหมดไป ทำไงได้ละครับ ก็วัยนี้วัยรุ่นวุ่นรักนั่นเอง
ผมเองในวัยนั้นก็แบบนี้ละครับ อันที่จริงผมเคยแต่งนิยายไว้เรื่องหนึ่งให้กับคนที่ผมเคยชอบสมัยเรียนปีหนึ่งเช่นกันครับและบังเอิญผมมาเจอกัน ๑๐ ปีให้หลังยังกับนิยาย ดังนั้นผมเลยแต่งเรื่องสั้นให้เธอไปตอนโตและสารภาพครับว่าสมัยปีหนึ่งเคยชอบเธอแต่ไม่เคยบอกเลย สิ่งที่ทำในตอนนั้นก็เพียงแค่แอบเก็บรูปดอกทานตะวันที่เธอวาดด้วยสีน้ำและแปะไว้ที่โต้ะกลุ่ม ดังนั้นสิบปีผ่านไป ผมจึงถือโอกาสเอามาลงให้พวกวัยรุ่นวุ่นรักอ่านกันเล่นขำๆก่อนวันวาเลนไทน์จะมาถึงครับ


"La confession du voleur 1: คำรับสารภาพของจำเลยฉบับที่ ๑

จากบันทึกคำให้การของ พนง สอบสวน เมื่อวันที่ ๑๓ ธค ๕๐ ที่ผ่านมาหลังจากจับตัวผู้ต้องหาร้ายแรงในคดีลักทรัพย์ในเวลากลางคืนอันเป็นเหตุฉกรร (ตามมาตรา ๓๓๔,๓๓๕ ประมวลกฏหมายอาญาไทย)ได้ที่ชายแดนพม่า อัยการได้ทำเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศไทยเร็วๆนี้ โดยศาลสรุปว่าคดีนี้มีมูลเนื่องจากพบหลักฐานสำคัญสองชิ้นที่โจทก์ได้ระบุไว้ในคำร้องทุกข์เมื่อสิบปีก่อน กล่าวคือ ๑ รูปภาพที่หายไป และ๒ คำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนโดยมีข้อความที่เขียนไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวดังต่อไปนี้ (อ่านแล้วอย่าขำนะครับ) ;

“เมื่อสิบปีก่อนถ้าเลือกได้คงไม่เก็บภาพนั้นมาแน่นอนเพราะมันตอกย้ำความทรงจำอยู่ตลอดเวลาว่าทำอะไรเปิ่นๆออกไป เมื่อย้อนไปถึงวัยที่เรายังเป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาใน กทมฯ วันเดือนแรกแห่งการเรียนที่รังสิต ทำไมเราถึงได้พบผู้หญิงคนนึงที่ทำให้เราไม่ลืมจนเลยวัยเบญจเพศไป แน่ละ เพราะเธอคนนั้นน่ารักมากไง (จนเพื่อนเราด่าว่า ไอ้นี่เพ้อเจ้อทุกวัน) แต่ก็ไม่วายที่เราจะสมมุติว่า “คนนี้แฟนฉัน” (แต่ฉันไม่ใช่แฟนเธอเพราะเธอเป็นใครก็ไม่รู้ ฉันยังไม่รู้จักเลย)
เวลาผ่านไปอีกหนึ่งเดือน คราวนี้เริ่มได้ข่าวกรองที่เราเข้าไปแทรกซึมในกลุ่มของเธอ เพื่อนชายในกลุ่มเธอคนนึงที่เรา(พยายาม)ตีสนิทได้ให้ข่าวว่า “เธอชื่อแนท” (พลาดตั้งแต่เริ่มแล้ว เป็นไงละ) จากนั้นเด็กชายวัย ๑๘ ปีก็พร่ำเพ้อแบบไร้สามัญสำนึกทั้งที่รู้แค่นั้น เด็กชายจินตนาการถึงเด็กสาวคนนั้น คนที่ไว้ผมสั้น ผิวขาว ตาโตใสปิ้ง หิ้วกระเป๋าขนฟูสีดำและเครื่องประดับสีสันมากมาย ทันใดนั้นก็มีพวกกระจอกข่าว พิราบข่าวมาบอกว่า “คุณหนูแน่เลยวะมึง บ้างก็ว่าพ่อเธอโหด บ้างก็ว่าเธอมีแฟนแล้ว หล่อด้วย” พวกนี้ไม่ปล่อยข่าวลือ ก็ทำลายกำลังใจกันทั้งน้านนนนน!

เดือนที่สามสี่ผ่านไป เราเริ่มเข้าไปแทรกซึมในกลุ่มด้วยตัวเอง(ทั้งที่อายเหลือเกิน)ด้วยกลวิธีหลากหลายมากมาย เช่น ทำเป็นไปทักเพื่อนในกลุ่มนั้นก่อน, หาเรื่องเดินไปเรียนโดยพร้อมเพรียงกับกลุ่มนี้ที่ตึกอื่น, ชวนเพื่อนชายไปเล่นบอล(ทั้งที่เราเตะไม่เป็นเลย), และที่เห่ยที่สุดคือ ชอบไปยืมชีทที่กลุ่มนั้น เฮ้อ มีแต่แผนเห่ยๆวะทำไงดีน้าาา

เพราะได้ข่าวจริงว่าเธอชื่อ “แอ๊น” เด็กชายคิดในใจว่า “เพื่อนเราให้ข่าวดีดีทั้งนั้น หึๆ ผิดหมดเลย” มีอยู่วันนึงที่เด็กชายแอบชำเลืองมองสาวในดวงใจของเขาแบบกล้าๆ อายๆ (จริงๆแอบดูทุกวัน แต่ใช้เทคนิคฯ) ทันใดนั้น หล่อนหันมามองและจ้องหน้า สายตาสบกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ หลายอย่างอธิบายด้วยภาษาแต่หลายอย่างภาษาไม่อาจอธิบายได้ เหตุผลก็เช่นกัน เพียงแค่นี้ทำให้เด็กชายมีความสุขเหลือเกิน ใครด่าก็ไม่โกรธ ใครห้ามก็ไม่ฟัง นั่งอมยิ้มอย่างเดียว เพื่อนบอกรักทำมึงตาบอด แต่เขากลับตอบว่า “ไม่บอดๆมองเห็นแต่เป็นสีชมพู” เฮ้อ......เหนื่อยแทนอดีตครับ
ตอนนั้นเริ่มเข้าหน้าหนาว ลมรังสิตพัดแรง เริ่มมีข่าวกรองในกลุ่มเล่ากันว่าเธอพักอยู่ที่หอวี แต่มีรุ่นพี่มาจีบเธอเห็นว่าเป็นหนุ่มวิศวะ เด็กชายคิดในใจ “เอาไงดีวะกู เสียเปรียบแบบเห็นๆเลย” จึงตัดสินใจไปอยู่กับเพื่อนสนิทที่หอวีสักพัก(คงเทียบได้กับอยู่หอโดม ๑ แล้วไปสิงในเมืองลำปาง) เพื่อนเป็นเด็กวิศวะเช่นกัน แต่รอแล้วรอเล่า ก็ไม่เจอเธออีกเลย.............แหล่งข่าวบอกว่าช่วงใกล้ปิดเทอม เธอกลับบ้านแล้ว
สิ่งเดียวที่เด็กชายจดจำได้ตอนนั้นคือ สายตา สายตาคู่นั้นที่ใครเห็นก็คงต้องหวั่นไหวและไหวหวั่น ตากลมโตแวววาวมีบางอย่างซ่อนอยู่อย่างบอกไม่ถูก เค้าว่าดวงตาปิดกันไม่ได้นี่นา ดวงตานี้แสนอ่อนโยน จริงใจและน่าปกป้องเหลือเกินนนน...(น้ำเน่ามากครับแต่ได้ฟิว)
เข้าเดือนพฤศจิกายน ๔๐ จำได้ว่าเป็นช่วงลอยกระทงหน้าหนาว แสงไฟระยิบระยับจากพลุ เด็กชายเดินพลัดหลงเข้าไปพบกับเด็กสาวคนนี้โดยบังเอิญแถวๆโรงอาหาร ทำไงดีน้า? รวบรวมความกล้าเข้าไปทักดีมั้ยเนี่ย หรือ ทำฟอร์มเก็กต่อไปดี ทันทีที่เด็กหญิงเหลือบมามอง เด็กชายหลบฉากกกก หายแซ๊บบบบ อายครับอายยย ทำเป็นจุดพลุ
อีกเดือนได้ข่าวว่าแหล่งข่าวที่เราหาข่าวมาตลอดและพรรคพวกของแหล่งข่าวไม่เห็นด้วยกับการที่คนนอกกลุ่มจะเข้ามาจีบเธอ พวกองครักษ์พิทักเธอเยอะเหลือเกิน ทำไงดี ทำไงดีละในเมื่อเพื่อนของเธอในกลุ่มชอบเธอมากเหลือเกิน อีกทั้งมีความรู้สึกว่า เราและคู่หูที่ชอบไปเรียบๆเคียงๆ ถูกมองว่า ไม่น่าไว้ใจซะแล้ว

เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มเธอมาถามกับเด็กชายเองว่า “นายชอบเธอเหรอ เราก็ชอบมากเลย”........., ถึงเวลาตัดสินใจคำนวณทุกอย่างที่มีข้อมูล- เพื่อนคนนี้ดีเหลือเกิน, เพื่อนคนนี้รักเธอเหลือเกิน, มันน่าจะรักจริง.........สำหรับผู้ชาย สามัญสำนึกมาก่อน
วันหนึ่ง เด็กสาวและเพื่อนๆได้นั่งเล่นกันและวาดภาพสีน้ำกันอย่างสนุกสนาน ภาพที่ปรากฏคือภาพดอกทานตะวันสีเขียวเหลืองลงชื่อของเด็กสาว ชั่ววู๊บแห่งความคิด เด็กชายตัดสินใจอะไรบางอย่าง
หนึ่งเดือนก่อนการตัดสินใจกระทำผิด จำเลยในคดีนี้ให้การว่า “สิ่งที่ทำไม่ผิด ในเมื่อการที่เราทำอะไรตรงกับที่ใจเราคิดย่อมไม่ผิด ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราคิดอย่างทำอย่างนี่ถึงเรียกว่าผิด ผิดต่อความรู้สึกของตัวเองไง” ดังนั้น การกระทำก่อนๆของเขาจึงผิดมากกว่าที่เขากำลังจะทำเสียอีก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เค้าจะทำในสิ่งที่ใจต้องการ

แม้ กม มองว่าการลักทรัพย์เป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ถ้าสมมุติว่า “การลักยารักษาโรคเพื่อไปรักษาคนป่วย”มีเหตุจำเป็นอันได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษฉันท์ใดแล้ว การลักรูปภาพของคนที่เขารัก ก็เป็นเหตุจำเป็นต่อการรักษาใจ ฉันนั้น

สุดท้ายจำเลยได้สารภาพต่อ พนักงานสอบสวนว่า........ความรักเหมือนฟ้าผ่า เราไม่อาจรู้ว่ามันมาเมื่อไหร่ และไปเมื่อไหร่ รู้แต่ว่ารักไปซะแล้ว.........
ดังนั้นก่อนวันวาเลนไทน์นี้ ใครอยากจะสารภาพอะไรกับใครก็เต็มที่นะครับ ผมเอาใจช่วย ดีกว่า ๑๐ ปีพึ่งมาบอกแบบผม มันก็สายเสียแล้วครับ

Wednesday, January 6, 2010

You can do it because you believe you can!

You can do it because you believe you can!
คุณทำได้ ถ้าคุณเชื่อว่าคุณจะทำให้ได้........



สวัสดีปีใหม่ทุกคนนะครับ ผมเองก็พึ่งจะกลับมาจากบ้านไม่นานมานี้และได้เรื่องดีดีมาเล่าให้ฟังครับ ผมได้ไปทานข้าวกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงคนหนึ่งมาครับ ไม่ใช่ใครที่ไหนเลยครับเป็นคนที่ผมนับถือเป็นพี่สาวแท้ๆ ที่น่าสังเกตก็คืออาจารย์หมอคนนี้เป็นคนพิการทางการเดินครับเนื่องจากเป็นปอลิโอแต่กำเนิดจึงไม่สามารถเดินได้เหมือนคนปรกติ สมัยเด็กๆพี่สาวคนนี้มีชีวิตที่ลำบากมากครับและยังเกิดที่เมืองลาวด้วย สมัยที่เรียน ม ปลายนั้นเป็นคนขยันเรียนมากครับทั้งๆที่พิการ เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อครั้นจะเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ สมัยนั้นไม่ยินยอมให้คนพิการเรียนแพทย์ครับ ผมจำได้ว่าพี่สาวคนนี้อ้อนวอนมหาลัยอยู่นาน แต่มหาลัยก็ไม่สนองตอบใดๆ สุดท้ายเรื่องก็เข้าหูอาจารย์ท่านหนึ่งที่ทราบเรื่องจากพี่สาวของเด็กสาวคนนี้ จึงได้ไปขอร้องให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยและคณะแพทย์ยินยอมให้สอบเรียนหมอ เมื่อเจอกับอธิการบดีซึ่งก็เป็นหมอด้วยแล้ว อธิการบดีก็ไม่ยินยอมอีกตามเคยครับโดยให้เหตุผลว่าคนพิการเรียนหมอจะไม่สะดวกต่อการทำงาน ดังนั้น อาจารย์อาวุโสท่านนี้จึงพูดสวนกลับไปยังอธิการบดีซึ่งมีเชื้อสายแขก (และไม่ทานหมู)ว่า “ขนาดคนไม่กินหมู เขายังรับเรียนแพทย์เลย พิกลมั้ย ทำไมคนพิการมีความสามารถ มีความพยายามถึงไม่รับ” คราวนี้เป็นอันได้เรื่องเลยครับ ยินยอมให้สอบแล้วผลก็ปรากฏว่า “สอบได้ที่ ๑”ด้วยครับ คำสอนจากศาสตราจารย์แพทย์หญิงพี่สาวผมนั้นสอนเพียงแค่ว่า “ขอให้เพียรพยายาม ความเก่งก็แพ้ความขยัน”
พอผมกลับจากการทานอาหารปีใหม่แล้วก็บังเอิญไปพบกับกลุ่มเพื่อนๆน้องๆนักเทนนิสที่เล่นกันมาสมัยเด็กๆ หลายๆคนเป็นแชมป์ประเทศไทยครับ(ยกเว้นตัวผม) และผมก็บังเอิญไปพบครูสอนเทนนิสของผมด้วยครับ ผมขอเรียกว่าเป็นครูของผมทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้เพราะครูผมคนนี้สอนให้ผมดำเนินชีวิตมาอย่างดี อาจจะไม่ใช่เรื่องการศึกษาครับ แต่เป็นเรื่องจิตใจและความพยายาม ครูผมชื่อว่า “พี่ต๋อย”ครับ ผมจำได้ว่าสมัยที่ผมเป็นเด็กนั้นผมโชคดีกว่าคนอื่นตรงที่ว่าบังเอิญเค้ามาสร้างสนามเทนนิสไว้หน้าบ้านผมพอดี ดังนั้นพ่อผมจึงมักจะให้ผมไปอยู่ที่สนามเทนนิสเลยครับเพราะที่บ้านก็ไม่มีใครดูแล พ่อแม่ผมเองก็ไม่ได้มีเงินอะไรมากมายครับ ผมจึงไม่มีไม้เทนนิส เสื้อผ้า ฯลฯ เหมือนลูกคนอื่นๆที่พ่อแม่ส่งมาเรียนเทนนิสโดยตรง(ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะ) แต่ผมโชคดีที่มีพี่ต๋อยนี่ละครับ พี่ต๋อยเองก็ไม่ใช่เจ้าของสนามเทนนิสนะครับ (อย่าเข้าใจผิด) แต่เป็นเด็กเก็บบอลและเฝ้าสนามเทนนิสจนได้หัดเรียนเทนนิสกับเจ้าของสนามจนกลายเป็นโปรเทนนิสไปจนได้ (ก็เพราะความพยายามอีกนั่นแหละ) ผมเริ่มเล่นเทนนิสกับพี่ต๋อยทุกๆวันครับ เนื่องจากเงินน้อยเลยไม่มีโอกาสเรียนเวลาทั่วไป ผมจึงต้องแอบมาเรียนกับพี่ต๋อยตั้งแต่หกโมงเช้าซึ่งเป็นเวลาที่ไม่มีใครมาเรียนแน่ แต่ถึงกระนั้นพี่ต๋อยเองก็เสียสละมาสอนผมแต่เช้าตรู่ เริ่มแรกทีเดียวก็ไม่ได้มาสอนหรอกครับ(พี่ต๋อยหลับไม่ตื่นเพราะเช้ามาก) แต่ผมดันทุรังมาซ้อมเองทุกวันคนเดียวจนพี่ต๋อยเกิดเห็นใจในความบ้าบิ่น
ชีวิตผมได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ดีแสนดีกับผมคนนี้ และก็สอนเรื่องวินัย เรื่องความพยายาม ความมั่นใจอีกมากมาย โดยเฉพาะสอนผมเสมอว่า “อย่าขาดความมั่นใจ เราจะทำได้ถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้” (ผมมาทราบภายหลังว่ามีคนที่ได้ดีจากพี่ต๋อยอีกหลายคน เช่น น้องนกที่ได้แชมป์เยาวชนหญิงเทนนิสโลกที่วิมบิลดั้ล) หลังจากที่ผมฝึกซ้อมเทนนิสกับพี่ต๋อยสักพักก็ได้รับความเอื้อเฟื้อเรื่องไม้เทนนิสและอุปกรณ์ต่างๆมากมาย
หลังจากนั้นผมก็กลับบ้าน ตกดึกบังเอิญไปรื้อห้องนอนตัวเองสักพักก็มีเศษกระดาษเก่าๆตกลงมาจากข้างเตียงนอนของผม ผมเอื้อมไปหยิบหมายมั่นว่าจะเอาไปทิ้งแต่ก็ทิ้งไม่ลงเมื่อพบว่าเศษกระดาษนี้เขียนด้วยลายมือผมเองสมัยเรียน ม ๖ (อกหัก รักไม่เป็น)
ผมเขียนด้วยหมึกดำเอาไว้บนกระดาษรูปรถเต่าว่า “You can do it if you believe you can” พร้อมกับคำว่า “ไปธรรมศาสตร์กัน” เหลือบไปดูกระดาษขาดแหว่งๆอีกชิ้นเขียนถึงแผนการขอทุนไปเรียนต่อประเทศต่างๆ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาลัยปีสอง ทำให้ผมลำดับเรื่องราวได้ทั้งหมดเลยครับ
ผมหวนนึกถึงสมัยที่ผมยังเด็กนั้น ผมเป็นเด็กเกเรเลยทีเดียวครับ โรงเรียนมีหมายให้หักทั้งหมด ๒๐ หมาย ผมเหลืออีกสองหมาย ถูกพักการเรียนไปหนึ่งอาทิตย์เพราะเกเรมาก บ้างก็ไปชกต่อยกับคนอื่น รร อื่น บ้างก็ทำระเบิดไปวางในห้องน้ำ เรียนได้แต่วิชาสุขศึกษาครับที่เหลือนี่ซ่อมราบคาบ แต่สุดท้ายผมก็เกิดความมุ่งมั่นว่าจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ด้วยตัวเองและคงต้องเป็นที่ธรรมศาสตร์ ผมจึงเขียนคำว่า “You can do it if you believe you can” ติดไว้ที่หัวเตียงและมุ่งมั่นขยันอ่านหนังสือจนสำเร็จ
เมื่อเข้า มาเรียนที่ธรรมศาสตร์ได้ ในยุคนั้นถือว่าโก้ไม่เบาละครับที่ได้มาเรียนท่าพระจันทร์ ก็ไม่วายเรียนนิติศาสตร์ยากแสนยากครับ ผมจำได้ว่าในปีแรกที่ประกาศผลสอบนั้นเพื่อนๆเรียนสอบตกกันระนาวเลยทีเดียวครับ ถึงกระทั่งในเทอมถัดมาก็เถอะครับ ร่วงกันเป็นใบไม่ร่วงเลยครับ (ซึ่งแรกๆก็ยังชิวๆกันอยู่แท้ๆ) อย่างไรเสียผมเองก็ยังไม่ตกสักตัวครับแต่คะแนนห่อเหี่ยวเลยทีเดียว จนกระทั่งปีสองเทอมแรกครับ ผมก็หนีไม่พ้นการสอบตกเช่นกันและเรียกได้ว่าตกแล้วตกเล่าในวิชาเดียวจนท้อแท้เลยครับ หลังจากนั้นผมเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเองเลยทีเดียวครับจนกระทั่งผมได้คำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งที่ยังสนิทจนทุกวันนี้ เพื่อนผมบอกคำเดียวครับว่า “มึงไม่ได้โง่หรอก แต่มึงไม่เคยมั่นใจว่าตัวเองทำได้”
...............................................................หลังจากนั้น สิ่งที่ผมยึดถือจนวันนี้ก็คือคำว่า เราทำได้ ถ้าเราพยายาม เพียงแต่ความสำเร็จย่อมเป็นของผู้ที่รู้จักรอเท่านั้นเอง.....................................

มุมมองโดมห้างฉัตร