Thursday, February 11, 2010

ชำเลืองใต้เงาโดม ตอนที่ ๓ – ความรักของแมลงเม่าและหิงห้อย

เนื่องจากใกล้วันตรุษและวันวาเลนไทน์ ตัวผมนั้นกำลังจะไปเมืองจีนในวันมะรืนนี้แล้ว แต่ผมก็บังเอิญได้ไอเดียเขียนเรื่องสั้นให้เป็นของขวัญสำหรับวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงเร็วๆนี้สำหรับทุกๆคนครับ เรื่องนี้ผมได้ไอเดียจากทฤษฎีความขัดแย้ง (Dialectics) ของนักปรัชญาเยอรมันชื่อ Hegel โดยมีเนื้อเรื่องดังนี้ครับ





“คืนวันหนึ่งในเขตทะเลป่าชายเลน ลมพัดพร้าวไหวเย็นสบายพร้อมเสียงคลื่นเบาๆริมฝั่งทะเลเขตการประมงของชาวเล มองไปสุดสายตาเห็นแสงไฟริบหรี่ ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากกองถ่านที่ไหม้เถ้าของเศษไม้โกงกาง เรื่องของความรักน้อยนิดเริ่มที่นี่และจบลงที่นี่

ก่อนหน้านี้ไม่นานนักคือจุดกำเนิดของเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและการอธิบายซึ่งกันและกันระหว่างแมลงเม่ากับหิงห้อย “ทำไมธรรมชาติแมลงเม่าจึงต้องบินเข้าในกองไฟและทำไมหิงห้อยจึงต้องกระพริบส่องแสง”
ในคืนก่อนหน้านั้นมีแมลงเม่าฝูงใหญ่บินผ่านต้นลำพูใหญ่อันเป็นที่รักที่หวงแหนยิ่งนักของกลุ่มชาวหิงห้อยกระพริบแสง ผ่านเพื่อไปสู่จุดหมาย หรือ ผ่านเพื่อไปสู่จุดจบ? กองไฟคือคำตอบหรืออย่างไร?

แมลงเม่าหนุ่มตัวหนึ่งพลั้งเผลอพลัดหลงทางจากฝูงของตนล่วงลงมาสู่ต้นลำพูใหญ่ ที่ซึ่งมีกลุ่มหิงห้อยกำลังสุขสันเหลือเกินกับการกินใบต้นลำพูใหญ่..................................

หิงห้อยผู้หวงแหนฯ ตะโกนถามแมลงเม่าหนุ่มว่า “เจ้าโง่ แกมาทำไมที่นี่ไม่ทราบ” แมลงเม่าหนุ่มตอบว่า “ข้าพลัดหลงจากฝูงที่กำลังบินไปยังกองไฟอันเกิดจากการเผาไม้โกงกาง เจ้ารู้หนทางไปสู่กองไฟรึไม่” กลุ่มหิงห้อยเหล่านั้นหัวเรอะร่าและพากันเย้ยหยันว่า “ดูก่อนพวกเรา เจ้าโง่นี่กำลังจะไปตายในไม่ช้า เพราะไม่สำเหนียกในความร้อนแรงของเปลวไฟ” แมลงเม่าตอบว่า “เปล่าเลย กองไฟอบอุ่น บางสิ่งที่ดูขมขื่นเช่นนั้น อาจอบอุ่นเข้าไปถึงหัวใจก็ได้ถ้าเข้าถึงอุดมคติแห่งความรัก” หิงห้อยเย้ยกลับว่า “เจ้านี่คงตาบอดเข้าแล้ว เวลามองเห็นแสงที่สว่างจ้าจากกองไฟ” แมลงเม่าหยุดคิดและตอบกลับไปอย่างช้าๆว่า “ข้าก็ไม่ได้ตาบอดนี่ ข้ายังมองเห็นพวกท่านกระพริบแสงอยู่เลยหลงเข้ามา เพียงแต่กองไฟทำให้ข้ามองเห็นอะไรบางอย่าง ทำให้ข้าตาสว่างไง”
“ถ้าเจ้าตาสว่างจริง เจ้าคงทำเหมือนเช่นที่พวกข้าทำ อยู่อย่างสุขสบายที่ต้นลำพูใหญ่นี้ คอยส่องแสงสวยงามให้ผู้คนได้เห็น” หิงห้อยตอบ
แมลงเม่ายิ้ม ก่อนทิ้งประโยคสุดท้ายก่อนจากไปว่า “ท่านทั้งหลายคงยังแยกไม่ออกจริงๆ ระหว่างคำว่า”รัก” และ “การครอบครอง”(ต้นลำพูและอื่นๆ) “ตัวข้านั้นมีความรักต่อกองไฟ แสงไฟ แต่ข้าไม่ได้ต้องการไปครอบครอง หวนแหน กีดกันเหมือนอย่างพวกท่านเลย ข้าใช้เพียงอย่างเดียวก็คือสัญชาติญาณ.............. มันบอกให้ข้ารู้เพียงว่า ข้ารักแสงไฟอันอบอุ่นนั้นด้วยสัญชาติญาณบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีกับตัวข้า ความร้อนของไฟทำให้ข้าปีกหลุด ทำให้ข้าได้พบกับคนที่ข้ารักและการเกิดใหม่”

.....................................................ใครจะรู้ว่าแมลงเม่าพูดถูก ตามธรรมชาติเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ การสลัดปีกของแมลงเม่าเกิดขึ้นจากความอบอุ่นของแรงไฟ ความจริงแมลงเม่าคือพญาปลวกที่ต้องการการเกิดใหม่(Reborn) เชื่อไหมว่าในช่วงฤดูหาคู่ ปลวกจะออกจากรังกลายสภาพเป็นแมลงเม่าเพียงเพื่อไปตามหาคู่ของมัน การเดินต่อตัวเป็นขบวนรถไฟที่เราเห็นก็คือการหยอกเย้ากระเซ้าเย้าแหย่กันและกันภายหลังจากที่ปีกหลุดไปแล้ว ในขณะที่ตัวด้วงอย่างหิงห้อยกำลังรอความตายภายในระยะเวลาไม่เกินสองสัปดาห์ตามอายุขัยของมันภายหลังจากที่เปล่งแสงเต็มที่

ตัวเราเองก็ไม่ได้ต่างอะไรจากแมลงเม่าเลยครับเพราะบางครั้งเราเองก็ใช้สัญชาติญาณเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่างที่อยู่เหนือเหตุและผล ด้วยข้อจำกัดของภาษาเราไม่อาจอธิบายบางอย่างออกมาได้ เราไม่อาจอธิบายเหตุผลตามสัญชาติญาณได้ด้วยการเอ่ยปาก อักษร ๔๔ ตัวคงน้อยเกินไป

เมื่อคุณเกิดรักใครสักคนที่มีความเป็นไปได้ยากด้วยเหตุผลต่างๆนานาเรามักจะอธิบายด้วยคำว่า “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” แต่ใครจะรู้ว่า แมลงเม่าก็มีเหตุผลของตัวเองตามสัญชาติญาณของการหาคู่และสานต่อ ตัวเราเองก็เช่นกัน ถ้าเรารักใครสักคนที่แม้เราไม่เคยเผชิญหน้าด้วยเลยสักครั้ง ถ้าเราจะบอกว่า “เรา.......ใช้สัญชาติญาณตามธรรมชาติเพื่อจะอธิบายว่าคนที่เราแอบมองอยู่นั้นเป็นคนที่อบอุ่นแสนดี บางทีคนๆนั้นอาจมีบางอย่างที่เราคงต้อง......ปีกหลุด....เพื่อการเกิดใหม่.......................แต่ไม่ใช่เพื่อการครอบครองและหวงแหนไว้คนเดียว


บางที สัญชาติญาณบอกให้รู้ว่าเรากำลังจะรักใคร..........................................................โดยที่ภาษา กริยา เหตุผลกำลังตาบอดและหูหนวก



การอธิบายบทละครด้วยทฤษฎีความขัดแย้ง

ตามที่นักปรัชญากรีกนิยมใช้กันนั้น Dialectics เป็นกระบวนการค้นหาสัจจะเชิงอภิปรายให้เหตุให้ผล วิธีการนี้ นักตรรกวิทยาสมัยปัจจุบัน เรียกกันว่า “แนวปฏิปักขนัย” (The Contradictory) เช่นบางคนอาจตั้งสมมติฐานขึ้นเป็นข้อยืนยันเกี่ยวกับ “ความเป็นธรรม” ว่ามีความหมายอันเดียวกันกับการพูดความจริงและความซื่อสัตย์ ประเด็นนี้เรียกว่า “ตัวยืน” (Thesis) ขั้นต่อไป คือพยายามหาเหตุผลตรงข้าม หรือขัดแย้งกับตัวยืนยันดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม แต่ไม่เกี่ยวกับการพูดความจริง และความซื่อสัตย์เลย เช่นการกระทำใด ๆ ที่ให้เกิดความสมใจทั้งสองฝ่าย เช่นนี้ เป็นต้น ประเด็นนี้ให้ชื่อว่า “ตัวแย้ง” (Antithesis) การประนีประนอม หรือการสังเคราะห์ฝ่ายที่เป็นตัวยืนกับฝ่ายที่เป็นตัวแย้งเข้าด้วยกันให้ชื่อว่า “ตัวสังเคราะห์หรือตัวยุติ” (Synthesis) ความก็จะเป็นว่า “ความยุติธรรม คือการพูดความจริงและความซื่อสัตย์ที่ให้เกิดความสมใจทั้งสองฝ่าย” ประเด็นที่สามนี้ดีกว่าและถูกต้องกว่าสองประเด็นแรกที่ขัดแย้งกันนั้น ด้วยอาศัยการลำดับช่วงความคิดเป็นทอด ๆ เช่นนี้ ช่วยให้เราได้เข้าถึงความหมายที่ถูกต้องของเรื่องนั้น ๆ
ต่อมาได้มีนักปรัชญารุ่นหลังหลายคน นำเอาสูตรนี้มาปรับปรุงใช้ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในเรื่องนี้ คือนักปรัชญาเยอรมันชื่อ Hegel เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติและประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ เฮเกลได้ชี้ใช้เห็นว่า สรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงขยายตัวมันเองอย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนานี้เป็นไปทีละขั้น ทุกขั้นทุกระดับมีการสืบเนื่องต่อกันเป็นช่วง ๆ การขยายตัวในขั้นตอนใหม่ย่อมมีรูปแบบ ปริมาณ คุณภาพ และคุณสมบัติดีกว่า ประเสริฐกว่าขั้นที่เกิดขึ้นก่อนเสมอ วิวัฒนาการดังกล่าวมิได้เป็นไปในทำนองสักแต่ว่าเป็นกระบวนความเจริญเติบโตคลี่คลายธรรมดา ๆ เท่านั้น หากเป็นไปโดยอาศัยมูลเหตุ คือ “ความขัดแย้ง” ซึ่งมีในตัวสิ่งนั้น ๆ อยู่แล้ว ในเรื่องสังคมและชีวิตมนุษย์ก็มีนัยเช่นเดียวกัน กล่าวคือได้มีการคลี่คลายขยายตัวกันมาเป็นขั้น ๆ ทั้งนี้เพราะมีพลังสองประเภทกระทำการขัดแย้งต่อต้านกันและกันอยู่เนืองนิตย์ (Opposed forces) ทำให้สังคมและชีวิตมนุษย์พัฒนาระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง
ตามสูตรนี้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ถูกต้อง ดี เลว ไปทุกอย่าง และจีรังยั่งยืนตลอดไป สรรพสิ่งอยู่ในสภาพไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพราะสรรพสิ่งมีพลังบวกกับพลังลบ หรือเรียกอีกอย่างคือ พลังสร้างสรรค์กับพลังทำลายอยู่ในตัว ดูเปรียบเทียบชีวิตเราที่เจริญเติบโตมาเรื่อย ๆ เป็นเพราะในตัวเรามีทั้งการทำลายและการสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ความคิดความอ่านและความเชื่อถือก็เหมือนกัน ย่อมมีการปรับตัวและแปรสภาพอยู่เสมอ มิใช่มีอยู่อย่างไรก็อย่างนั้นเป็นนิรันดร
ทั้งนี้เพราะมีการขัดแย้งกันอย่างไม่หยุดยั้งระหว่างของเก่ากับของใหม่ ครั้นแล้วจากการขัดแย้งกันนั้น จึงจะบังเกิดสิ่งที่สามขึ้นมา โดยการประสมกลมกลืนสิ่งทั้งสองเบื้องต้นที่ขัดแย้งกันนั้นเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่สามนี้มีสถานภาพดีกว่าและเหนือกว่าสิ่งทั้งสองที่ขัดแย้งกัน ไม่ช้าไม่นานสิ่งที่สามก็จะกลายเป็นตัวยืน และภายในตัวยืนนี้ก็จะเกิดพลังตรงข้ามก่อความขัดแย้งขึ้นอีก กระบวนการเป็นไปเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
สังคมย่อมมีวิวัฒนาการไปตามสูตรนี้ ทุกขั้นตอนของวิวัฒนาการย่อมมีความขัดแย้งภายในสังคมนั้น ๆ อันเป็นตัวการให้สังคมนั้นเจริญก้าวหน้า พลังขัดแย้งต่อสู้กันเป็นสภาวะประจำธรรมชาติของสรรพสิ่ง เมื่อกาลเวลาและพฤติการณ์บรรลุถึงขีดอันควรแล้ว พลังดังกล่าวก็จักทวีความขัดแย้งต่อต้านขึ้นเป็นลำดับจนถึงขั้นแตกหัก จากนั้นก็จะเกิดระบบสังคมใหม่ขึ้น ซึ่งอยู่ในระดับสมดุลเหนือระดับเดิมทั้งสองที่ต่อสู้ล้างผลาญกัน เศษเหลือเดนบางส่วนจะสลายตัวไป บางส่วนที่ดีจะถูกกลืนเข้าไปในของใหม่ ด้วยประการฉะนี้ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของสังคมมนุษย์ ย่อมดำเนินไปจากขั้นต่ำและหยาบ ๆ จนบรรลุถึงขั้นสูงและละเอียดซับซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะไปถึงขั้นที่สุดท้ายของกระบวนวิวัฒนาการ
ตามทัศนะของเฮเกล สูตรความขัดแย้งนี้เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ และสรรพสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติย่อมเป็นไปตามนั้น เราสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลกตามบันทึกประวัติศาสตร์ได้ถูกต้องถ่องแท้ ก็ด้วยการสังเกตดูความเจริญเติบโตของประชาชาติทั้งหลาย (The Nations) ในแง่ที่เป็นไปตามสูตรความขัดแย้ง อารยธรรมของมนุษย์ชาติหนึ่ง ๆ เมื่อขยายเติบโตขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้ชาติอื่น ๆ เป็นคู่อริขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการขัดแย้งกันระหว่างชาติเหล่านั้น เมื่อการต่อสู้ล้มล้างกันถึงที่สุดอารยธรรมใหม่จะเกิดขึ้นมาแทน โดยเลือกเฟ้นเอาแต่คุณค่าส่วนดีที่สุดจากอารยธรรมเดิมทั้งสองนั้นมาปรุงเข้าด้วยกัน
กระบวนวิวัฒนาการเช่นนี้ จะนำพาอารยธรรมมนุษย์ดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ที่เรียกกันว่า “สารัตถะสูงสุดของชีวิต” (The Spirit) รัฐทุกรัฐก็จะหล่อหลอมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ “ความคิดสมบูรณ์แบบ” (The Absolute Idea)
แนวคิดเกี่ยวกับสูตรความขัดแย้ง ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อคาร์ล มากซ์ โดยได้เลียนแบบสูตรดังกล่าวนี้มาอรรถาธิบายกระบวนวิวัฒนาการของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจระบบต่าง ๆ ตามบันทึกประวัติศาสตร์ในเชิงวัตถุนิยม พลังใหญ่ที่สุดที่ผลักดันให้กระบวนวิวัฒนาการนี้เป็นไป ได้แก่พลังความขัดแย้ง เกี่ยวกับวัตถุเครื่องยังชีพหรือเศรษฐปัจจัย ในกระบวนการผลิตของรัฐระบบนั้น ๆ กระบวนวิวัฒนาการนี้แต่ละช่วงแต่ละระดับจะมี 3 ตัว ประกอบ (Factors) คือ:-
1. ตัวยืน (Thesis)
2. ตัวแย้ง (Antithesis)
3. ตัวยุติ (Synthesis)
1. ตัวยืน หมายถึง ความจริง เหตุผล ความเชื่อ ค่านิยม ระบบสังคม ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา อันเป็นแนววิถีชีวิตแบบเก่า ซึ่งถือเป็นตัวยืน(ชั่วขณะหนึ่ง) ในทีนี้เราใช้ T แทน ค่าตัวยืน
2. ตัวแย้ง หมายถึง ความจริง เหตุผล ฯลฯ ประเภทที่สอง ซึ่งถือกำเนิดออกมาจาก T แต่มีสภาพขัดแย้งกับ T กล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ความจริง ฯลฯ แบบที่สองเกิดขึ้นมา แม้มีรากเหง้ามาจาก T แต่ได้กลายเป็นพลังขัดแย้งกับ T ในที่นี้ใช้ A แทน ค่าตัวแย้ง
3. ตัวยุติ หมายถึง ความจริงฯลฯ ที่สามเกิดจากผลกระทบขัดแย้งแล้วผสมผสานหล่อหลอม ส่วนที่เหลือเข้าด้วยกันระหว่าง T กับ A ความจริง ฯลฯ ประเภทที่สามย่อมดีกว่า ถูกต้องกว่า ความจริง ฯลฯ สองประเภทแรกที่สลายตัวไป ในที่นี้เราใช้ S แทน ค่าตัวยุติ

5 comments:

minute said...

ไปเมืองจีนเหรอคะ ขอให้เดินทางไปและกลับโดยสวัสดิภาพนะคะ ขอบคุณที่มีข้อความดีดีให้ได้อ่านอยู่เสมอ สุขสันต์วันวาเลนไทน์และวันตรุษจีนล่วงหน้าค่ะ

T said...
This comment has been removed by the author.
• แป๊ะยิ้มพิมพ์ใจ • said...

ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพนะคะ

สุขสันต์วันตรุษจีนแห่งความรักค่ะ

T said...
This comment has been removed by the author.
Silly pooh said...

บางครั้ง "ความรัก" อาจอยู่เหนือเหตุผล หรือสิ่งที่เรียกว่า "สัญชาติญาณ" ดังเช่นปรากฎการณ์ที่แมลงเม่าโผบินเข้าสู่กองไฟอันร้อนแรง พฤติการณ์ที่แกร่งกล้าห้าวหาญที่อาจนำไปสู่ความตาย กลับกลายเป็นฉากการต่อสู้ฉากหนึ่งที่จะคัดเลือก "ผู้ยิ่งใหญ่" ที่จักได้เกิดใหม่อย่างองอาจภาคภูมิ แต่รายรอบกองไฟนั้นเล่า กลับรายล้อมไปด้วย "ความตาย" ของผู้ที่พ่ายแพ้ต่อความร้อนแรงของกองเพลิง
แต่ไฉนเลยชีวิตอย่างหิงห้อยที่มีวงจรชีวิตอันแสนสั้น มีชีวิตเสมือนเฉื่อยชาไร้แรงผลักแห่งความขัดแย้ง จึงได้สร้างความลุ่มหลงให้กับผู้คนที่พบเห็น ท่ามกลางความเวิ้งว้างในจิตใจของผู้คน แสงไฟจากหิงห้อยกลับสร้างประกายแห่งความหวังอย่างเบาบาง

บางทีหิงห้อยอาจพูดถึง "คอยส่องแสงสวยงามให้ผู้คนได้เห็น"
...บางที "การให้" ก็เป็นความรักอันสูงส่งอย่างหนึ่ง ที่แม้แต่ความอหังการจากสัญชาตญานก็ไม่อาจเทียบได้

ปล.กว่าจะมาตอบกระทู้อาจารย์ภูมินทร์ได้ ก็เลยวาเลนไทน์มานานแล้ว ถือโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันมาฆบูชาที่พระพุทธเจ้าได้ "ให้" ธรรมะแก่มวลมนุษย์ แทนนะคะ