ความเสเพลทางการศึกษา
สิทธิ์ บุตรอินทร์ และภูมินทร์ บุตรอินทร์*
การศึกษาทำให้มนุษย์ครองชีวิตพิเศษเหนือสัตว์อื่นใด มนุษย์เสเพล
เพราะรับการศึกษาเสเพล การศึกษาเองมิใช่สิ่งมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์
แต่เป็นเพียงมรรคานำมาสู่สิ่งมุ่งประสงค์ของชีวิต คือ ความจริง ความถูกต้อง
ดีงาม ความสมดุล และคุณประโยชน์แห่งชีวิตอันอิสระ สงบสุข และสง่างาม
ลูกไทยหลานไทยกำลังได้รับการจัดวางบนเส้นทางการศึกษาเสเพล
จริงหรือไม่?
มนุษย์คืออะไร เกิดมาเพื่ออะไร และ เกิดมาแล้วควรมีชีวิตอยู่แบบไหน ปัญหาสามมิตินี้ ยังไม่เคยมีตำราเล่มใด โดยสถาบันการศึกษาใด และ ในวิทยาการสาขาใด ให้คำตอบและอรรถาธิบายได้ครบถ้วน สำหรับมนุษย์ ปัญหาใหญ่ที่สุดจึงเป็นเรื่องของมนุษย์เอง ได้มีหมู่นักคิด นักปรัชญา และนักการศึกษาทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่ง จากสำนัก มนุษยนิยม(Humanism) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันโลกมนุษย์และสังคมมนุษย์ รวมถึงความเป็นไปของมนุษย์ กำลังมีแนวโน้มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สู่ลักษณาการของ ยุคมืดแบบใหม่ ที่ปกคลุมครอบงำมวลมนุษย์ทั่วโลกให้ต้องประสบทุกข์ ในฉากแห่งความสุขที่พากันเสแสร้งสร้างขึ้น อยู่ขณะนี้
ในบันทึกประวัติศาสตร์ของคนตะวันออก ไม่มีการกล่าวถึงยุคมืด ส่วนของคนตะวันตก ยุคมืด(Dark – Age) หมายถึงยุคที่ ดวงปัญญาและเหตุผลของมนุษย์ ถูกบดบัง ครอบงำ และ บีบคั้น โดยอิทธิพลทั้งที่มืดและที่แจ้งของ ศาสน์(Religion) จนทำให้ ศาสตร์(Science) อันเป็นแนวทางพัฒนาดวงปัญญาและความมีเหตุมีผลของมนุษย์ ต้องหลบลี้ซ่อนตัวและชะงักความเจริญงอกงาม ให้มนุษย์ต้องประสบภัยแห่งมลภาวะทางปัญญาและเหตุผล ตลอดจนความล้าหลังและวิกฤตการณ์ด้านต่างๆ ในความเป็นมนุษย์ โดยประมาณมิได้
มาบัดนี้ ศาสตร์ สบโอกาสได้รับการฟื้นฟูเลี้ยงดูและส่งเสริมให้เจริญเติบโต ถึงระดับคนทั้งหลายพากันคลั่งศาสตร์อย่างรวดเร็ว ขยายตัวไปทั่วทุกสถาบันและทุกสังคมในซีกโลกตะวันตก แม้โลกตะวันออกเองขณะนี้ ก็กำลังตั้งหน้าตั้งตานับรอยเท้าก้าวตามโลกตะวันตกอยู่อย่างเร่งรีบ เอาเป็นเอาตาย และด้วยความจงรักภักดีเป็นยิ่งนัก อานิสงส์พร้อมพิษสงของ ศาสตร์ และต่อมารวมเอาเทคโนโลยีเข้าเป็นพลังร่วมด้วยช่วยกัน ได้บันดาลให้มนุษย์เกือบทุกหมู่เหล่า เอาชนะเรื่องของธรรมชาติไปได้มากโข ประสบความก้าวหน้าทางการคิดค้นและแข่งขันแย่งกันผลิตสิ่งอำนวยความสะดวก สนองความทะยานอยากของมนุษย์ ให้มนุษย์ได้รับความผาสุก สนุก สะดวกและสบายยิ่งขึ้นเป็นอเนกอนันต์ ในชีวิตเปลือกนอก
ขณะเดียวกัน ในโลกแห่งความเป็นจริงที่กำลังผจญอยู่ มนุษย์ต่างประกอบการโหดร้ายต่อมนุษย์ด้วยกัน ต่อธรรมชาติ และต่อสภาพแวดล้อม แก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ และแข่งขันกัน ประกอบทุรกรรมแห่งความหมดเปลือง(Consumerism) ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ด้วยความกระหื่นหายเมามัน และความภาคภูมิใจ โดยสำคัญผิดคิดว่า ไม่มีอะไรสูญหายไปจากโลก และไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้
ในยุคมืดแนวใหม่นี้ มนุษย์กำลังสั่งสอนลูกหลานให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่บนเส้นทางแห่ง การศึกษาอันเสเพลเพื่อใช้และเสวยทรัพย์ มากกว่า เพื่อสร้างชีวิตอันอารยะ โลกนี้ สังคมนี้ และชีวิตนี้จึงดูทีเอียงลงไปเรื่อยๆ เพราะขาดดุลยภาพแห่งความพอดีและพอเพียง ปัจจุบัน การศึกษาเล่าเรียนวิชาในมาตรการแย่งชิงผลประโยชน์ยิ่งได้ยิ่งดี เพื่อปลุกเร้าและสนอง กิเลสตัณหา-ความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มพิกัด และถือเป็นนโยบายอันดับหนึ่งของชาติต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในค่ายทุนนิยมหรือสังคมนิยม ทั้งที่ได้ชื่อพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา มวลมนุษย์ล้วนตกเป็นทาส วัตถุนิยม ภายใต้ข้อกำหนดอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ของการเสพติดในผลิตผลที่ตนอาศัย ศาสตร์และเทคโนโลยี ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา เป็นนายเหนือชีวิตมนุษย์ ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ล้วนเทิดทูนวัตถุเหนือคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ประเมินกันด้วยราคาและผลประโยชน์ แรกๆก็ว่า ผลิตผลเพื่อมนุษย์ เสพติดเข้ามากๆกลับกลายเป็นว่า มนุษย์เพื่อผลิตผล ในแผนพัฒนาการศึกษาของไทยระยะไหนๆ จึงปรากฏว่าสาขาวิชาใดๆที่ไม่อาจวัดผลได้โดยปริมาณให้เห็นได้เป็นเงินเป็นทอง และ เป็นตัวเป็นตนทางวัตถุธรรม วิชาด้านนั้นจะถูกคุมกำเนิดไว้ทันที โดยอ้างว่า เป็นวิชาไม่ขาดแคลน เช่น วิชาปรัชญา ตรรกวิทยา ศาสนาและจริยธรรม เป็นต้น
ผลตามมาคือ วิกฤตการณ์และความชั่วร้ายในรูปแบบและลักษณาการต่างๆเกิดขึ้นเป็นมหันต์ ในชีวิตมนุษย์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม อบายมุข พฤติกรรม และการเบียดเบียน กลับกลายเป็นเรื่องนิยมกัน ค่านิยมแบบใครเข้มแข็งใครอยู่ ใครอ่อนแอใครมลายไป ดุจปลาใหญ่กินปลาเล็ก กำลังเพิ่มพลังขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง สันติสุขและสุขภาพจิตกลับลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ พ่อแม่อาจฆ่าลูกได้ และสมสู่กับลูกได้โดยชอบและถือว่า ไม่เห็นเป็นไร ทำดีถือเป็นของชั่ว ทำชั่วถือเป็นของดี เกณฑ์กำหนดวัดคุณค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของการได้มาซึ่งวัตถุอามิส หรือเงินตรา ในข้อนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยสอนผู้เขียน ใจความตอนหนึ่งว่า การศึกษาปัจจุบันจึงนิยามคำว่า พัฒนา ให้หมายถึงความเจริญก้าวหน้าทางกายภาพ วัตถุ และ ระบบเท่านั้น แนวคิดเปรียบเทียบประเทศพัฒนา กับ ประเทศด้อยพัฒนา หรือ ทันสมัย กับ ล้าสมัย จึงมีความหมายเน้นชัดและชี้บ่งในข้อนี้ ผู้เจริญคือคนที่มีขีดขั้นการครองความเป็นเจ้าของได้ปริมาณมากๆ ส่วนผู้ต่ำต้อยล้าหลังหมายถึง คนขาดแคลนการครองความเป็นเจ้าของ ความเสียสละ ความมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย กติกา ความกล้าหาญทางจริยธรรม และคุณธรรมอื่นๆ จึงไม่นิยมถือเป็นคุณสมบัติของผู้มีการศึกษาดี
ระบบการศึกษาไทยปัจจุบันที่สำเนาเขามา โดยปราศจากการเลือกสรร กลั่นกรอง และประยุกต์ได้แสดงความเสเพลและพิการชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า เป็นตัวการส่งเสริมและแพร่ระบาดวิกฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นอย่างไม่มีทางแก้ตัว แน่นอน การมีชีวิตหมายถึงการมีปัญหา การศึกษาแทนที่จะป้องกันปัญหา แก้ปัญหา ลดปัญหา และ พัฒนาซึ่งชีวิต กลับเพิ่มพูนปัญหา ทำให้ปัญหาซับซ้อน และร้ายแรงยิ่งขั้น การจัดการศึกษาให้ลูกไทยหลานไทย เป็นเรื่อง ธุรกิจการค้า เรียกกันว่า ธุรกิจวิชาการ หรือ ธุรกิจปริญญาบัตรไป นักศึกษาอาจสั่งและบังคับอาจารย์ให้กระทำตามข้อกำหนดของตนได้ อาจซื้อเกรด และแม้กระทั่งปริญญาบัตรได้ สถาบันการศึกษาเปรียบเสมือนองค์กรธุรกิจชนิดหนึ่ง ประกอบการแลกเปลี่ยนเพื่อหากำไร นักศึกษาคือลูกค้า ลูกคนรวยคือลูกค้าที่ดี ลูกคนจนคือลูกค้าที่เลว หรือไม่มีสิทธิ์เป็นลูกค้าเลย ส่วนมหาวิทยาลัย คือ ตลาดวิชาการที่เป็นแหล่งเพาะ สร้างสรรค์ และส่งเสริม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความได้เปรียบเสียเปรียบ และความไม่เป็นธรรมนานัปการ ในโอกาสทางการศึกษาของทายาทสังคมไทยรุ่นต่อมาและรุ่นต่อไป
ด้วยการศึกษาระบบนี้ มนุษย์จึงกำลังตกอยู่ในความทุกข์ และเผชิญปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น คนรวยคนจนได้รับการหยิบยื่นโอกาสเร่งเร้าให้เกิดอาพาธทางใจ ไร้สุขภาพจิต เสียตัวและเสียคนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราภูมิใจนักหนากับ ความเป็นเลิศทางวิชาการของเรา และแล้วเราจึงกลายเป็นทาสของสิ่งที่เราผลิตขึ้นมา โดยอาศัยความเป็นเลิศทางวิชาการแห่งเรานั่นเอง ลูกหลานเราจะมาช้ำใจ เสียใจ เป็นทุกข์ และอาจหาทางทำลายตัวเอง ตลอดจนสังคมประเทศชาติและโลก โดยวิธีการน่าเกลียดน่าชังต่างๆทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว มันเป็นโชคดีที่ตายก่อนและตายเร็วได้ อาศัยระบบการศึกษาแบบนี้ มนุษย์ปัจจุบันจึงกำลังมุ่งหน้าสู่ยุคมืดอีกแนวหนึ่ง นั่นคือ ยุคแห่งความมืดบอดทางจิตวิญญาณ จริยธรรม มโนธรรม และมนุษยธรรม
เห็นได้ว่า แต่อดีตจนปัจจุบัน การศึกษาและการจัดการศึกษามีความเสเพลและพิการเรื่อยมา เสเพลและพิการตรงที่มิได้ช่วยพัฒนามนุษย์ให้เกิด บูรณาการแห่งชีวิต หรือ ดุลยภาพแห่งชีวิต ก่อนนี้ ศาสน์ ภายใต้ปรัชญาเทวนิยม ได้ทรงพลานุภาพเหนือมนุษย์ ให้เกิดความมืดบอดทางปัญญาและเหตุผล การศึกษาจึงเป็นไปตามทิศทางจินตนาการแห่งอารมณ์ และความเพ้อฝัน ศรัทธาหย่อนปัญญา และกลัวอำนาจลึกลับที่สอนให้เชื่อเอาไว้ มาบัดนี้มนุษย์หันมาเทิดทูน ศาสตร์ และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความรู้ทางศาสตร์ การศึกษาและการจัดการศึกษาจึงถูกจัดขึ้นไปตามทิศทางของปรัชญาวัตถุนิยม ซึ่งเป็นวิถีทางสุดโต่งตรงกันข้ามกับทางศาสน์
มนุษย์ถูกกำหนดให้ชะตาชีวิตหมุนไปตามทิศทางปรัชญาการศึกษาสุดโต่ง (Extremisms) ทั้งสองฝ่ายนั้นเรื่อยมา ในประเทศที่อ้างตัวเป็น ชาติพัฒนา หรือ สังคมอารยะ หากมองลึกถึงแก่นแท้ เราจะได้ความจริงค่อยๆปรากฏชัดเจนตามมาคือ ความล้าหลังทางจิตวิญญาณและจริยธรรม ที่นักการศึกษาไทย ผู้ได้รับการชุบเนื้อชุบตัวกลับมา กำลังฝากเนื้อฝากตัวเป็นแนวร่วมร่ำร้องเรียกหากันทุกเมื่อเชื่อวันอยู่ขณะนี้
มนุษย์คือ เวไนยสัตว์ ครองชีวิตแห่งร่างกายและจิตวิญญาณ ที่ทรงคุณค่า ศักยภาพและศักดิ์ศรี อยู่ในฐานะรอรับการพัฒนาให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง (เพิ่มเติมจากที่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ) ปรับปรุงสู่สถานภาพ การหน้าที่ คุณสมบัติและจุดประสงค์ในรูปแบบไหน และระดับใด ย่อมได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ โดยผ่านวัฒนธรรมทางการศึกษาและฝึกอบรมที่ถูกต้องเพียงพอ ธาตุแท้ของมนุษย์มีสภาพเป็นกลางๆ เป็นกรรมันตภาพที่รอรับการจัดตัว การพัฒนา การเสริมสร้าง การฝึกอบรม การแนะนำสั่งสอน และการใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม สู่จุดประสงค์ที่ถูกต้องดีงาม
การศึกษาเป็นเรื่องของการมีชีวิต ด้วยการศึกษาที่ถูกต้องเพียงพอ และไม่เสเพล คนในอุดมคติจึงหมายถึง ผู้ได้รับการพัฒนาคุณสมบัติให้เป็นคนมีความรู้ ความคิดอ่าน มีความ สามารถ มีพฤติกรรมที่ดีที่ชอบ และเสวยสันติสุขในชีวิตอันสง่างาม ทุกคนแสวงหาและพัฒนาคุณสมบัติ คุณค่าและประโยชน์สุขแก่ชีวิต เพื่อตนเองกับเพื่อผู้อื่นพร้อมๆกัน การศึกษามิใช่จุดหมายของชีวิต แต่เป็นตัวกำหนดวัดและบ่งบอกความแม้นเหมือน และ/หรือความแตกต่างระหว่างสัตว์ชนิดมนุษย์กับสัตว์ชนิดเดรัจฉาน และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ การศึกษาที่ถูกต้องแท้จริงจึงหมายถึง กระบวนการพัฒนาคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ให้ได้บูรณาการและดุลยภาพแห่งชีวิต เป็นผู้เจริญทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณพร้อมๆกัน ลูกไทยหลานไทยควรต้องได้รับการศึกษาทั้งวิชาชีวิตและวิชาชีพ ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งวัตถุธรรมและคติธรรม ให้ได้สมดุล บูรณาการ และพอเพียง เพื่อความจริง ความถูกต้องดีงาม และอรรถประโยชน์ในชีวิตอันสงบสุขสง่างาม
* ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์
ภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ราชบัณฑิตยสถาน และ ภูมินทร์ บุตรอินทร์ เด็กวัด
26 ม.ค.51
No comments:
Post a Comment