การสร้างทุนทางวัฒนธรรม ตอน อิทธิพลของวัฒนธรรมอื่นกับการสร้างวัฒนธรรมของเรา
โดย ภูมินทร์ บุตรอินทร์
ภายหลังจากที่ผมนั่งทำงานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทุกค่ำคืนอย่างมีความสุขนี้ ภายใต้แสงเทียน โคมไฟประดับ รูปภาพคลื่นทะเลของ โฮกุไซศิลปินผู้เรืองนามชาวญี่ปุ่น[1] กลิ่นชาที่ออกจากกาน้ำชาลายครามทรงญี่ปุ่น(สมัยเอโดะ เห็นจะได้)ทำให้เราหลงเสน่ย์โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นชาคลาสสิกอย่างชาอู่หลง ทิกวนอิม, ชามาโคโปโล ฯลฯ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ก่อนหน้านี้ตัวผมเองไม่ได้มีความรู้ทางวัฒนธรรมมากมายนัก อีกทั้งเรื่องรูปแบบหรือพิธีกรรมต่างๆเป็นสิ่งที่ผมไม่ยี่หร่าเอาเสียเลยทั้งๆที่ผมอยู่ในเขตประเทศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมอย่างยุโรปจะดื่มด่ำเมื่อไหร่ก็ไม่หมด จนมาถึงวันหนึ่งผมได้พบกับมิตรผู้พี่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆ
ผมคงต้องย้อนกลับไปนึกถึงพฤติกรรมเก่าๆของตัวเองที่เข้าใจแต่คำว่า “ทุนนิยม” “วิธีค้าขาย”และ “ กำไร” สมองของผมสามารถคิดคำนวณเกี่ยวกับวิธีบริหาร, วิธีค้าขายให้ได้กำไร, กลยุทธ์อย่างฉับไว ในทางตรงกันข้ามสมองผมไม่ทำงานเอาเสียเลยเวลาคิดถึงเรื่องของ “วัฒนธรรม” “ศิลปะ” และ “งานวรรณกรรม” ผมไม่ทราบว่าคนไทยในยุคนี้มีสมองที่ถูกผลิตออกมาจากโรงงานเดียวกับผมหรือไม่?
ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนงานชิ้นนี้ผมเหลือบไปเห็น “ เศียรพระพุทธรูป”ที่วันก่อนหลวงพี่ที่วัดนำมาเก็บไว้ที่ห้องทำงานแห่งนี้ เป็นเศียรที่ถูกฝรั่งตัดออกมาจากบ่าแล้วนำมาขายในฝรั่งเศสจนสุดท้ายมีคนนำมาถวายไว้ที่วัดเพราะทนเห็นสภาพที่ร้านขายของเก่าไม่ได้ เศียรพระรูปนี้ทำให้ผมฉุดคิดขึ้นมาทันทีเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมของเรา คนไทย คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำอย่างไรเราจะสร้างคุณค่าให้กับวัฒนธรรมของเรา เฉกเช่นชาวญี่ปุ่นสร้างวัฒนธรรมการชงชา หรือ ชาวฝรั่งเศสให้คุณค่ากับไวน์ของเขา? เราคนไทยได้เคยสรางสิ่งเหล่านี้ให้กับตัวเองบ้างไหมและเราสร้างอย่างไร อุปสรรคคืออะไร? หลายคนมองว่าเราสร้างไม่ได้เหมือนชาวญี่ปุ่นหรือชาวยุโรป ห่างไกลเขาเหลือกำลัง(แค่เทียบกับเวียดนามยังไม่ทันเขาเลยมั้ง) แต่ผมเองเลือกที่จะมองโลกในแง่ดีเสมอและพร้อมที่จะขายมันด้วยต้นทุนต่ำแต่กำไรงดงาม
ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่สร้างและยกระดับวัฒนธรรมของตนได้อย่างดี เช่น ฝรั่งเศส หรือ ญี่ปุ่น แล้วต้องย้อนกลับไปถึงรากเหง้าวิธีคิดของเขา เมื่อพูดถึงอำนาจทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ ๑๗ ถ้าผมบอกว่าสมัยนั้นเรากับญี่ปุ่นห่างกันไม่มากก็คงจะเป็นเรื่องน่าขันแต่จริงเพราะเมื่อไปตรวจสอบในประวัติศาสตร์ถ้าเทียบกันแล้ว ในสมัยของสมเด็จพระนารายมหาราชอันเป็นยุครุ่งเรื่องแห่งสยามเพราะมีการค้าขายนานาชาติ มีอู่ต่อเรือของเราเองเพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินเรือต่อไปยังโคชินจีน การค้าขายโดยการส่งเรือสยามออกไปค้าขายและเป็นพ่อค้าคนกลางโดยผ่านชาวจีนได้กำไรงดงาม ณ เวลาเดียวกันนั้นถ้าผมย้อนกลับไปอีกห้าสิบปีก่อนหน้าสมัยของสมเด็จพระนารายณ์[2] ซึ่งหน้าจะเป็นสมัยของพระเจ้าปราสาททอง เป็นช่วงระยะเวลาตั้งแต่การรวบรวมประเทศญี่ปุ่นโดยโนบุนากะไปจนถึงโทโยโทมิ ฮิเดโยชิและจบลงที่โตกุกาว่าอิเอยะสึ มองเผินๆเฉพาะเรื่องการค้าอาจไม่แตกต่างจากเรามากนักแต่ถ้าสังเกตุให้ดี สิ่งที่ญี่ปุ่นต่างจากเราก็คือ การรู้จักใช้นวัตกรรม การค้นคว้าวิจัย การส่งคนไปสำรวจยังที่ต่างๆและที่สำคัญคือ การขายวัฒนธรรม
ในทางตรงกันข้ามรัฐสยามจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังเป็นเฉกเช่นเดิม คือ การค้าขายผูกขาดโดยกษัตริย์ผ่านพ่อค้าชาวจีน การไม่ให้คุณค่าแก่ผู้ประดิษฐ์ ผู้วิจัยและศิลปิน [3]การเมินเฉยต่อคุณค่าของปัญญาชน ความฉลาดแบบศรีธนชัยและการปฏิวัติล้มล้าง[4]
คำถามที่อยากตั้งเอาไปคิดกันก็คือ ทำอย่างไรเราจะสังเคราะห์เอาคุณค่าหรือวิธีในการทำให้วัฒนธรรมของเรามีความโดดเด่นและมีคุณค่าในเชิงทุน วันนี้ผมเริ่มง่วงแล้วครับเนื่องจากเปิดเพลงเขมรไทรโยคเพื่อฟังเสียงระนาดของไทยเรา นี่ละคุณค่าที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย
[1] Katsushika Hokusai, (葛飾北斎), (1760—1849), was an Edo period Japanese artist, painter, printmaker and ukiyo-e maker. In his time he was Japan's leading expert on Chinese painting[citation needed]. Born in Edo (now Tokyo), Hokusai is best-known as author of the woodblock print series Thirty-six Views of Mount Fuji, (c. 1831), which includes the iconic and internationally-recognized print, The Great Wave off Kanagawa. Hokusai created the ‘Thirty-Six Views’ both as a response to a domestic travel boom and as part of a personal obsession with Mount Fuji.
[2] โปรดดู “ จิ้มก้องและกำไร” ,
[3] (ในจุดนี้ชาวยุโรปรู้จักกันดีในการแลกเปลี่ยนประโยชน์อันพึงได้ระหว่างผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือศิลปินผู้เขียนงานวรรณกรรมชิ้นเลิศกับสังคม โดยใช้ศัพท์ลาตินว่า “Quid pro quo”แปลว่า การแลกเปลี่ยน)
[4]ในที่นี้ ผู้เขียนหมายถึง การกระทำของพระเจ้าปราสาททอง, การกระทำของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและต่อมาคือพระเพทราชาภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นสูงอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการวางระบบแบบแผน หรือโครงสร้างกฏเกณฑ์ใดใด
1 comment:
ต้องบอกว่าเป็นบทความที่ดีที่สุดอันหนึ่งของรินเลยก็ว่าได้ น่าสนใจตั้งแต่ต้นจนจบ บราโว!
พี่คิดว่าใครจะสามารถสร้างทุนทางวัฒนธรรมได้นั้น ก่อนอื่นเลย เขาต้องเข้าใจนัยของ "ทุน" เสียก่อน
ทุนในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีค่าเสียโอกาส งอกงามเมื่อนำไปใช้ และขาดทุนเมื่อปล่อยมันไว้เฉยๆ หรือขาดการบริหาร
ผลกำไรหรือขาดทุนที่ว่านี้ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมิติของตัวเงินหรือทุนที่จำต้องได้
ความไม่เข้าใจนัยอันนี้น่าจะเป็นข้ออ่อนด้อยของคนไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคให้เราไม่สามารถไปได้ไกลนักอย่างชาวญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศส
ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เราทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติ ภาษาใด พึงมีหรือเป็นเจ้าของอยู่โดยไม่ต้องไปขวนขวายหยิบยืมหรือซื้อจากใครแล้ว คนไทยมักจะปล่อยให้มันเก่าทรุดโทรมหรือตายซากเป็นปรักหักพังไปเสียก่อน จึงจะจัดชั้นมันว่าเป็น "วัฒนธรรม"
วิธีคิดเช่นนี้ที่กำหนดค่านิยมของคนไทยต่อวัฒนธรรมของตน ซึ่งมีผลให้เราตัดขาดวัฒนธรรมออกจากวิถีชีวิตของผู้คน
เมื่อวัฒนธรรมปราศจากชีวิต มันก็ไม่อาจเจริญงอกงามได้
หรือพูดง่ายๆ ว่าหากวิถีชีวิตของคนต้องพึ่งพาวัฒนธรรมแล้ว ความจำเป็นในการอยู่รอดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขให้เขาเหล่านั้นสร้างมูลค่าและคุณค่าจากวัฒนธรรมไปโดยปริยาย
Post a Comment