นิยามของ “ค่ายสร้างฯ”ในทัศนะคติของผม
เย็นวันนี้นักศึกษาของผมกลุ่มหนึ่งที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำโครงการค่ายอาสาและพัฒนาชุมชนได้เดินเข้ามาหาผมและขอร้องให้ผมเขียนถึงความคิดเห็น ประโยชน์ของการจัดทำโครงการดังกล่าว
ผมย้อนกลับไปคิดถึงสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาปีแรกที่ธรรมศาสตร์ สมัยนั้นทุกคนที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่ต่างโหยหาพฤติกรรมในอุดมคติเฉกเช่นอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งในแง่รูปแบบและตัวเนื้อหา ที่เรียกว่าเชิงรูปแบบนั้นเรียกได้ว่าเป็นแฟชั่นเพื่อชีวิตก็ว่าได้ เช่น การทำตัวให้เป็นพวก ๕ ย.(เสื้อยืด กางเกงยีน ผมยาว สะพายย่าม รองเท้ายาง) หรือ การหาเพลงเพื่อชีวิตแบบคาราวานมาร้องเอาเท่ครับ ผมจำได้ว่าตอนนั้นใครเอาเพลงแนวหนุ่มเนี้ยบเดินสยาม เช่น เพลงแนวๆค่ายเบเกอรี่มิวซิคมาร้องเนี่ยไม่เท่ครับ (ถูกเพื่อนๆในคณะประณามเล็กน้อย)
อีกส่วนที่เรียกกันว่าเชิงเนื้อหานี้ ถือว่าใครได้ลงค่ายสร้างฯภาคปฏิบัติ ก็จะเป็นหนุ่มสาวธรรมศาสตร์ในอุดมการณ์อย่างแท้จริงครับ เนื่องจากได้เข้าไปพัฒนาชุมชนตามแนวทางเพื่อสังคมจริงๆ
คำว่า “ค่ายสร้างฯ” นั้นมีสองมิติครับ มิติแรกคือการนิยามเชิงอัตวิสัย ส่วนมิติหลังคือการนิยามเชิงภาวะวิสัย เป็นอย่างไรกันแน่................................งง!
คำว่า “ค่ายสร้างฯ”เชิงภาวะวิสัยนั้นหมายถึงการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การออกค่ายสร้างประโยชน์ให้หมู่บ้าน ชุมชน สังคมนั้นๆเกิดความเข็มแข็งทั้งการศึกษา เศรษฐกิจและสถาบันครอบครัว การสร้างสรรค์เพียงวัตถุปัจจัยนั้นไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการลงชุมชนเพราะไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนคำว่า “ค่ายสร้างฯ” เชิงอัตวิสัยนั้นหมายถึง ค่ายดังกล่าวได้สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ ประโยชน์ที่ว่านี้คือ การสร้างเพื่อน ทำให้เราได้มิตรสหายเพิ่มขึ้น การสร้างน้ำใจไมตรี ทำให้เรารู้จักที่จะให้กับผู้อื่น และที่มากกว่าทุกเรื่องคือการสร้างอุดมการณ์ให้คงอยู่
..........................................เราคงจะไม่รู้จักอุดมการณ์เพื่อมวลชน ถ้าเราไม่เริ่มที่จะสร้างอะไร..............