กลิ่นอายของความท้อแท้
มี นศ ท่านหนึ่งส่ง จม มาถึงผมวันก่อนครับ โดยมีคำถามที่น่าสนใจอยู่พอสมควรแต่ถามอย่างสับสนดังนี้ครับ
“คือว่าผมสนใจในบล๊อก (เรื่องทุนการศึกษาต่อ) ที่อาจารย์เขียนน่ะครับแต่ว่ามันคงเป็นไปได้ยากสำหรับผมครับ ดังนั้นผมจึงเข้าใจว่าสิ่งที่อาจารย์เขียนมันใช้ได้สำหรับคนกลุ่มเฉพาะเท่านั้น ใช่ไหมครับ (คำถามที่ 1) ดังนั้นคนเราที่เกิดมาธรรมดาก็คงไม่มีสิทธิใช่ไหมครับ อย่างน้อย สมมุติว่าผมไม่มีเงินไปทดสอบความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ผมก็ไม่มีโอกาสใช่ไหมครับ อาจารย์เคยเขียนไว้ว่าอาจารย์เป็นแค่คนนคนนึงที่มีโอกาสใช่ไหมครับ แต่โอกาสมันต้องมากับความพร้อมใช่หรือเปล่าครับ ดังนั้นในฐานะเด็กธรรมดาคนนึงก็คงไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้นได้ใชไหมครับ มันจะจำเป็นหรือเปล่าครับที่คนเราสามารถเลือกทางเดินชีวิตตนเองได้ แต่สำหรับตัวผมนั้นผมเชื่ออย่างที่หลายๆ คนเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นใช่ไหมครับ เราอยากจะเลือกแต่ในบางครั้งมันก็ไม่สามารถเลือกได้ ดังนั้นผมจึงอยากขอถามว่าสิ่งที่เป็นตัวกำหนดที่แท้จริงในทางสังคมมันคืออะไรกันแน่ครับ มันคือความรู้ใช่ไหมครับที่สังคมต้องการจากเรา หรือเราเองที่ต้องการความรู้นั้น แล้วจริงหรือเปล่าครับว่าถ้าเรายิ่งเรียนรู้มากจะทำให้เราเข้าใจสังคมได้มากขึ้นกว่าคนที่มีความรู้น้อยกว่าเรา ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบอาจารย์มาก ทั้งในแนวความคิดและการดำเนินชีวิตถึงแม้ผมอาจจะไม่รู้ทั้งหมดก็ตาม แต่ยอมรับว่าชอบมากครับ ยังไงช่วยตอบผมหน่อยได้ไหมครับ จากเด็กคนหนึ่งที่ต้องการมุมมองในชีวิตที่แตกต่างแล้วยังไงจะเมลมาถามอีกครับ (ช่วยตอบหน่อยแล้วกันครับ) ขอบพระคุณอย่างสูงที่อ่านเมลมาจนจบครับ
ด้วความเคารพอน่างยิ่ง
เด็กธรรมดา (มากๆ)”
ดังนั้นผมจึงตอบกลับไปว่า
“สวัสดีครับ
คำถามที่ถามมา ทีหลังขอให้ถามอย่างมีประเด็นและชัดเจนด้วยนะครับเพราะคุณเขียนออกมาเป็นพระอภิธรรมปิฏกแบบนี้ผมก็ตอบได้ไม่หมดครับ ขอให้ตั้งคำถามชัดเจนกว่านี้
คำถามแรกผมจะตอบว่า ตัวผมเองก็ไม่ได้เรียนภาษาอย่างเป็นรูปแบบเช่นกันครับ เนื่องจากผมเองก็ไม่มีเงินทองอะไร แต่ที่ผมทำได้คือสร้างโอกาสให้กับตนเอง นั่นหมายความว่าผมไปอาสาเป็นไกด์ให้ฝรั่งจนภาษาผมได้ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น ภาษาอังกฤษผมก็ไม่ได้ดีเด่นอะไร
คำถามที่ว่าคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน เราไม่อาจกำหนดชีวิตเราได้นั้น ผมเองก็ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าคนเราจะเท่าเทียมกันไปหมดทุกเรื่อง นิ้วสิบนิ้วยังไม่เท่ากันเลยครับ หรือ ลายมือคนเราก็ไม่เหมือนกัน(ทำให้คนเชื่อในชะตาตนบนฝ่ามือ) แต่ลายมือนั้นอยู่ในฝ่ามือครับ......อย่างน้อยคุณก็มีสองมือเท่ากันมิใช่หรือ จงใช้สองมือนี้สร้างสิ่งที่คุณต้องการด้วยตัวคุณเอง สิ่งที่ผมจะบอกกับทุกคนในที่นี้ก็คือถ้าคุณไม่มีโอกาส จงสร้างโอกาสนั้นขึ้นมา อย่ารอคอยโอกาสเพราะโอกาสไม่เคยรอเคยใคร......ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ผิดหวังมาแล้วนับไม่ถ้วนครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การเรียน การทำธุรกิจ บางทีเราออกแรงมากมายแต่ผลกลับไม่เป็นดังหวัง บางทีไม่ออกแรงเท่าไหร่ ปรากฏว่าสมหวัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างน้อยเราก็ได้ออกแรงและกล้าที่จะลองดู ผมเคยตกอับถึงขนาดแบกหินแบกปูนร่วมกับแรงงานไทยในฝรั่งเศส สมัยที่ผมไม่มีทุนการศึกษาเหลืออยู่เลย ผมต้องไปอยู่วัดสอนหนังสือแลกกับที่พักและอาหาร นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะมีโอกาสอะไรเหนือกว่าใครครับ แต่ผมเลือกที่จะสร้างโอกาสและกล้าผิดหวังต่างหาก
ส่วนคำถามที่ว่า “ความรู้ใช่ไหมครับที่สังคมต้องการจากเรา หรือเราเองที่ต้องการความรู้นั้น แล้วจริงหรือเปล่าครับว่าถ้าเรายิ่งเรียนรู้มากจะทำให้เราเข้าใจสังคมได้มากขึ้นกว่าคนที่มีความรู้น้อยกว่าเรา” ผมขอตอบครับว่าคนที่แสวงหาความรู้ ไม่จำเป็นหรอกครับว่าสังคมจะสนใจเขาหรือไม่แล้วไม่จำเป็นว่าจะเข้าใจสังคมได้ดีกว่า เช่น สมัยที่ผมเป็นเด็กวัดนั้น ความรู้วิชาการผมมีเต็มไปหมด แต่ผมเทียบไม่ได้กับคนงานชื่อพี่จ่อยที่เรียนแค่ ป สี่ เท่านั้น ผมผสมปูนไม่เป็น ผมต่อท่อเหล็กก็ไม่เป็น สู้ใครๆก็ไม่ได้เลยครับ แต่การไปอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นต่างหากครับที่ทำให้ผมเข้าใจสังคม
โดยส่วนตัวผมเองนั้นก็เห็นด้วยครับที่มีวาทะกรรมที่ว่า “เมื่อนิติศาสตร์คือวงการแห่งความไม่เท่าเทียมกันซะแล้ว” มีทั้งหลักสูตรอินเตอร์แยกออกจากหลักสูตรทั่วไป มีการสอบผู้พิพากษาสนามพิเศษสำหรับคนเรียนจบนอกสองใบ แต่ผมคงต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “คุณจะยอมจำนนแค่นี้เหรอ!” เอาเวลาว่างไปหาทางออกมิดีกว่าหรอครับ...............